สังคม
เปิดข้อมูลงบการเงิน-สินค้าคงคลัง 'ดิ ไอคอนกรุ๊ป' พิสูจน์ขายสินค้าจริงตามที่โฆษณาหรือไม่
โดย panwilai_c
14 ต.ค. 2567
352 views
คดีนี้ หลายฝ่ายเกรงว่า สุดท้ายดิไอคอนกรุ๊ป อาจสู้คดีแชร์ลูกโซ่ โดยอ้างว่า มีสินค้าจริง ไม่ได้หลอกให้ลงทุน วันนี้ ทีมข่าว 3 มิติ จึงพยายามตรวจสอบงบการเงิน ตัวเลขสินค้าคงคลัง ของดิไอคอนกรุ๊ป เพื่อพิสูจน์ว่า บริษัทนี้มีสินค้าจริงหรือไม่ หรือหากมี มีมากตามที่กล่าวอ้างหรือไม่
กรณีผู้เสียหายกว่า 600 คน แจ้งความเอาผิดผู้บริหารบริษัทดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด จากพฤติการณ์หลอกให้ลงทุนในลักษณะแชร์ลูกโซ่ ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการสืบสวนของตำรวจ
แต่ข่าว 3 มิติพบข้อมูลใหม่ ว่ากรณีนี้อาจเข้าข่ายการฉ้อโกงประชาชนหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาผู้บริหารและตัวแทนของบริษัทอ้างว่ามีการผลิตและจำหน่ายสินค้าจริง แต่หลักฐานจากการตรวจค้นโกดังเก็บสินค้าและงบการเงินของบริษัทกลับแสดงข้อมูลที่อาจขัดแย้งกันหลายจุด
เช่น รายได้และกำไรย้อนหลัง 4 ปีของบริษัท คือ
ปี 2563 รายได้ประมาณ 378 ล้านบาท กำไร 9 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ประมาณ 4,950 ล้านบาท กำไร 813 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ประมาณ 3,071 ล้านบาท กำไร 188 ล้านบาท
ปี 2566 รายได้ประมาณ 1,891 ล้านบาท กำไร 19 ล้านบาท
โดยเฉพาะปี 2564 ที่มีรายได้สูงสุดกว่า 5 พันล้านบาท เมื่อนำตัวเลขนี้มาเปรียบเทียบกับสินค้าที่ตรวจพบในโกดัง ซึ่งมีทั้งหมด 15 รายการ ผลิตโดย oem หรือผู้รับจ้างผลิตสินค้ารวม 6 ราย
หากต้องการพิสูจน์ว่าบริษัทดิไอคอนกรุ๊ป มีสินค้าจริงตามที่ระบุ อาจใช้วิธีตรวจสอบย้อนกลับไปยังผู้รับจ้างผลิตสินค้าทั้ง 6 ราย จะพบว่าจำนวนสินค้าที่ผลิตต้องสอดคล้องกับยอดขายในปีนั้นๆ
เช่นปี 2564 รายได้จาการขายสินค้าคือ 4,950 ล้านบาท หากคิดแบบเฉลี่ยเท่าๆ กัน ผู้รับจ้างผลิตทั้ง 6 ราย ต้องผลิตสินค้าส่งให้ดิไอคอนกรุ๊ป เป็นมูลค่ารายละประมาณ 825 ล้านบาท ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขได้เพราะมีภาษีซื้อ-ขาย ส่งให้กรมสรรพากรเป็นหลักฐานอยู่
ข้อสังเกตต่อมาคือรายงานรถยนต์เข้ารับสินค้าในโกดังของบริษัทเฟรนด์ชิป ฟูลฟิลเม้นท์ จำกัด ซึ่งพนักงานให้การว่าส่งสินค้าวันละประมาณ 400 ชิ้น มีรถยนต์ขนส่ง 4 ล้อมารับสินค้าวันละ 1 ครั้ง ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับรายได้ในงบการเงินของบริษัท
อีกประเด็นสำคัญคืออัตราการหมุนเวียนของสินค้าคงเหลือ ซึ่งใช้สูตรคำนวณจากต้นทุนขาย และจำนวนสินค้าคงเหลือถัวเฉลี่ย เช่นปี 2564 ร้านสะดวกซื้ออันดับต้นของประเทศมีค่าเฉลี่ย 13.42 เท่า เมื่อคำนวณโดยใช้สูตรหาร 365 วัน หมายความว่าหากวางสินค้าในร้านนี้จะต้องขายหมดภายใน 27 วัน
ปี 2564 บริษัทดิไอคอนกรุ๊ปมีค่าเฉลี่ย 489.59 เท่า นั่นหมายความว่าหากวางขายสินค้าเพียงครึ่งวัน สินค้าต้องขายออกได้ทั้งหมด
ตัวเลขเหล่านี้ทำให้เกิดคำถามว่ารายได้จากการขายสินค้ากว่า 5 พันล้านบาทในปี 2564 เป็นตัวเลขมูลค่าสินค้าจริงหรือไม่ หรือแท้จริงแล้วอาจเป็นยอดจากการเปิดบิลสั่งสินค้าจากตัวแทนจำหน่าย
ข้อสงสัยนี้อาจพิสูจน์ได้ไม่ยาก หากผู้เสียหายทั้งหมดกว่า 600 คน รวมตัวกันไปขอรับสินค้าฝากขายไว้คืนโกดังของดิไอคอนกรุ๊ป ก็จะทราบว่าบริษัทมีสินค้าจริงตามที่ยืนยันมาโดยตลอดหรือไม่
แท็กที่เกี่ยวข้อง ดิไอคอนกรุ๊ป ,ข้อมูลรายได้ ,เปิดข้อมูลงบดิไอคอน ,ข้อมูลขัดแย้งหลายจุด