สังคม

ศปช. ปรับลดระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ไม่ให้กระทบจังหวัดท้ายเขื่อน-เตือน 21 จว. เฝ้าระวังฝนตกหนัก

โดย parichat_p

13 ต.ค. 2567

84 views

ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. ปรับลดระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อไม่ให้กระทบกับจังหวัดท้ายเขื่อน พร้อมเตือน 21 จังหวัดเสี่ยงสูงเฝ้าระวังฝนตกหนักในช่วงนี้


สถานการณ์ปริมาณฝนและปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ล่าสุดมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดย มีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานี C.2 จังหวัดนครสวรรค์ 2,184 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และการระบายน้ำวันนี้อยู่ที่ 1,900 ลูกบาศก์เมตร/วินาที


นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. และ ศปช. ส่วนหน้า เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศปช. ได้มีมติให้ปรับลดการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาลงอีกเหลือ 1,850 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนบริเวณท้ายเขื่อน ทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมทั้งเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำฝนและน้ำทะเลที่จะขึ้นหนุนในช่วงวันที่ 13 – 24 ตุลาคม นี้


ส่วนพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจาก ยังมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ศปช.จึงขอให้ประชาชนที่อยู่ใน9จังหวัด พื้นที่เสี่ยงสูงมาก เฝ้าระวังและติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดได้แก่ พังงา / ภูเก็ต / กระบี่ / สุราษฎร์ธานี /พัทลุง / ตรัง / ยะลา / นราธิวาส / ปัตตานี สำหรับพื้นที่เสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ ได้แก่ ระนอง / นครศรีธรรมราช / สงขลา /สตูล


โดยที่ประชุม ศปช. ได้เตรียมความพร้อมในการพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคใต้ ที่มีปริมาณความจุเกิน ร้อยละ 80 เพื่อรองรับปริมาณฝนที่จะเติมเข้ามา


ส่วนความคืบหน้าแผนฟื้นฟูที่ จังหวัดเชียงราย นายจิรายุ กล่าวว่า ตอนนี้การให้ความช่วยเหลือประชาชนถือว่ามากกว่าร้อยละ 90 แล้ว และไม่มีสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มเพิ่มเติมในพื้นที่ ขณะนี้อยู่ระหว่างฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลด โดยหน่วยงานต่างๆ ไม่มีการถอนกำลังและ ยังคงเดินหน้าเพื่อให้กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว


ส่วนการดำเนินการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยใน อ.แม่สาย มีผู้ใช้ไฟฟ้ามีไฟฟ้าใช้แล้ว 12,268 ราย การฟื้นฟูบ้านเรือนประชาชน 819 หลัง ดำเนินการแล้ว 658 หลัง คิดเป็นร้อยละ 80


ส่วนกรณีสื่อออนไลน์นำเสนอข่าวน้ำท่วมขังและน้ำมีกลิ่นเหม็น ที่บ้านหลุก อ.เมืองลำพูน ตอนนี้ ศปช.ได้เร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เร่งแก้ไขปัญหาใน 3 จุดแล้ว คือ จุดที่ 1 สวนกาญจนาภิเษก ต.เหมืองง่า อ.เมืองลำพูน จุดที่ 2 หลังเทศบาลตำบลเหมืองง่า (เก่า) ก่อนไปจุดที่ 3 ที่อาคารฝายเก่า โดยมี อบจ.ลำพูน ร่วมกับชลประทาน จ.ลำพูน ดำเนินการ

คุณอาจสนใจ

Related News