สังคม
ตร. เผย 6 บอส ธุรกิจ 'ดิไอคอน กรุ๊ป' ถูกแจ้งความดำเนินคดีแล้ว-'จิราพร' ระบุ คดีเข้าเกณฑ์เป็นคดีพิเศษ
โดย parichat_p
13 ต.ค. 2567
119 views
รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ยืนยันว่าสถานะของผู้เกี่ยวข้องกับบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป ซึ่งมีชื่อนำหน้าว่า บอส ทั้ง 6 คน ตกเป็นผู้ต้องหาแล้ว ขณะที่มูลค่าความเสียหาย ขณะนี้ใกล้ถึงวงเงิน 300 ล้านบาท ส่วนรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนมนตรี ระบุว่าคดีเข้าเกณฑ์เป็นคดีพิเศษ และขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ก็ส่งเจ้าหน้าที่มาทำงานร่วมกับตำรวจด้วย
พลตำรวจตรีโสภณ สารพัฒน์ รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เปิดเผยว่าวันนี้มีผู้เข้าแจ้งความเพิ่มเป็น 240 ราย จำนวนผู้เสียหายตลอด 4 วันนี้อยู่ที่ 740 ราย ขณะที่ มูลค่าความเสียหายอยู่ที่ 266 ล้านบาท และจากการที่มีผู้เสียหายเข้ามาแจ้งความอยู่ต่อเนื่อง จึงเพิ่มพนักงานสอบสวน รับแจ้งความร้องทุกข์ เป็น 70 นาย
พลตำรวจตรีโสภณ ยังระบุว่า ผู้บริหาร "ดิ ไอคอน กรุ๊ป" และ ดารา ที่เข้าพบพนักงานสอบสวน เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจเมื่อวาน ประกอบด้วย กรรมการบริหารบริษัท 1 ราย คือ นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือ พอล ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มดารา ประกอบด้วย แซม ยุรนันท์ ,มิน พีชญา,นาย ปีเตอร์ และ หมอเอก และวันนี้ มีผู้มาพบพนักงานสอบสวน เพิ่มอีก 1 คน คือ กันต์ กันตถาวร รวมเป็น 6 คน พร้อมทั้งแม่ทีมอีก 8 ราย รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ยังระบุว่าพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำ ผู้บริหารและเหล่าดารา ทั้ง 6 คน ในฐานะผู้ต้องหา
ขณะที่พลตำรวจตรี มนตรี เทศขันธ์ ผู้บังคับการกองปราบปราม ระบุว่า ตำรวจแจ้งได้ข้อกล่าวหาให้ "บอส" ทั้ง 6 คน เนื่องจากมีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษว่ามีความเสียหาย เกิดขึ้นแล้ว แต่การจะพิจารณาว่าจะดำเนินคดีข้อหาใดบ้างนั้น ยังต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้ละเอียด
ส่วนเหตุผลที่ยังไม่ควบคุมตัว "กลุ่มบอส" นั้น เพราะขณะนี้มีเพียงพยานบุคคล และการสอบสวนก็ยังไม่แล้วเสร็จ ยังไม่สามารถพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง ความผิดทางคดี หรือความบริสุทธิ์ได์ อีกทั้งยังมีผู้เสียหายทยอยมาแจ้งความเพิ่มเป็นระยะ พนักงานสอบสวนจึงต้องพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด นอกจากนี้ มูลค่าความเสียหายก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้คดีดังกล่าวเข้าใกล้หลักเกณฑ์การเป็นคดีพิเศษ ซึ่งตำรวจได้ประสานข้อมูลร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ไว้แล้ว
นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุเช่นกันว่า ดีเอสไอ ได้เข้ามาร่วมทำคดีด้วย เนื่องจากมีผู้เสียหาย 300 คนขึ้นไป และมูลค่าความเสียหายเกิน 100 ล้านบาท ถือว่าเข้าเกณฑ์ที่จะเป็นคดีพิเศษ แต่ก็ขึ้นอยู่กับดีเอสไอว่า จะพิจารณารับเป็นคดีพิเศษหรือไม่
ส่วนที่ สคบ.ถูกพาดพิง เรื่องคลิปเสียงเทวดา สคบ.รับสินบนนั้น นางสาวจิราพร กล่าวว่า อยู่ระหว่างประสานตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะต้องการให้คนนอก เข้ามาร่วม สืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส คาดว่าจะสามารถแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ได้ในวันอังคารที่ 15 ตุลาคมนี้
ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊กของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โพสต์ภาพพร้อมข้อความว่า กลุ่มตรวจสอบและปราบปรามการกระทำผิดทางโซเชียล ของกองกฎหมาย ได้ตรวจสอบ และสืบสวนพบว่า นายฐานานนท์ หรือ "หมอเอก" ที่อ้างตนเป็นแพทย์ ของบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด นั้น เป็นนักประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ แต่ใบประกอบวิชาชีพฯ หมดอายุแล้ว และนายฐานานนท์ ก็ไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม ดังนั้น การตรวจร่างกาย และฟังเสียงหัวใจของหมอเอกตามที่ปรากฏในสื่อนั้น เข้าข่ายการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มาตรา 26 ฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยไม่ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาต หรือเรียกว่า หมอเถื่อน มีโทษทั้งจำคุกและปรับ
อีกทั้ง สถานที่ให้บริการตรวจรักษา ก็ไม่ได้ขออนุญาตและขึ้นทะเบียนเป็นสถานพยาบาล จึงเข้าข่ายการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ฐานเป็นสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือ คลินิกเถื่อน ซึ่งกรม สบส. จะประสานแพทยสภา สภาเทคนิคการแพทย์ และตำรวจ เพื่อดำเนินคดี