สังคม
สำรวจ 7 พื้นที่เสี่ยงดินถล่มในภูเก็ต วางแผนป้องกันเกิดซ้ำ หลังสูญเสียใหญ่ 13 ชีวิต
โดย panwilai_c
12 ก.ย. 2567
154 views
กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่ามีการสำรวจทางวิชาการ พบพื้นที่เสี่ยงเกิดดินโคลนถล่มจำนวน 1,984 ตำบล ใน 54 จังหวัด และอยู่ระหว่างเร่งเสนอ ครม.รับทราบ เพื่อประกาศให้แต่ละพื้นที่กำหนดมาตรการรับมือ
หนึ่งในนั้นคือจังหวัดภูเก็ต ที่เพิ่งเกิดเหตุดินถล่ม มีผู้เสียชีวิต 13 คน เมื่อสองสัปดาห์ก่อน แต่ล่าสุดกรมทรัพยากรธรณี พบว่ายังมีความเสี่ยงที่จะถล่มซ้ำอีกในจุดเดิม และพื้นที่อื่นอีกอย่างน้อย 7 จุดที่มีความเสี่ยงด้วย
ซากปรักหักพังของห้องเช่า และบ้านพักเหล่านี้ คือร่องรอยความเสียหายจากเหตุดินและหิน จากยอดเขานาคเกิด ใกล้กับบริเวณที่มีการสร้างองค์พระขนาดใหญ่ ถล่มลงมาเมื่อสองสัปดาห์ก่อน
ปริมาณและน้ำหนักของหิน และดิน ที่ทรุดลง บวกกับเหตุการณ์ที่เกิดขณะเช้ามืด ยากที่จะอพยพหรือหลบหนีได้ทัน
ยิ่งกว่านั้นความลาดชันของเชิงเขา เท่ากับเร่งให้ดินและหินจากส่วนบนสุด ที่เรียกว่าส่วนหัวของดิน ถล่มลงไปพื้นราบนั้น ก็เร็วยิ่งขึ้น
รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี พร้อมทีมสำรวจของกรมทรัพยากรธรณี ชี้ให้เห็นว่ารอยปริหรือรอยร้าวของดินบริเวณนี้ ที่เหลือจากการถล่มไปครั้งที่แล้ว ถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะถล่มได้อีก เพราะโครงสร้างความเหนียวแน่นของดินที่มีหินแกรนิตเป็นองค์ประกอบนั้น ได้สูญเสียไปแล้วจากการถล่มครั้งนั้น จากนี้หากถูกกระตุ้นซ้ำไม่ว่าจะโดยมนุษย์ หรือฝนตกหนัก ซึ่งขณะนี้ภูเก็ตก็ยังไม่สิ้นฤดูมรสุม ก็นับได้ว่าที่นี่ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะถล่มซ้ำ
ตอนนี้พื้นที่เกิดเหตุถูกกรมป่าไม้ สั่งระงับการใช้ประโยชน์ และดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องในส่วนที่บุกรุก ขณะที่จังหวัดภูเก็ต ก็เร่งกำหนดมาตรการเบี่ยงทางน้ำไหลจากยอดเขา ลดความเสี่ยงที่จะถล่มซ้ำ ขณะเดียวกันก็จะไม่ให้จุดใหม่ มีความเสี่ยงเพิ่ม
ขณะที่กรมทรัพยากรธรณี กำหนดว่าระยะเร่งด่วนคือสร้างตาข่ายลวดไว้หลายชั้น ตามร่องน้ำเดิมที่พังลงไปแล้ว เพื่อดักตะกอนดิน หรือหินที่จะพังซ้ำลงไปหาชุมชน
อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่าแผนที่จากการสำรวจด้วยหลักวิชาการธรณีวิทยา 7 ปัจจัยเสี่ยง ล่าสุดพบพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มทั่วประเทศ จำนวน 1,984 ตำบล ในพื้นที่ 54 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 27.3 ของพื้นที่ประเทศ จากนี้จะเร่งนำเสนอครม.เพื่อรับทราบ และประกาศให้แต่ละพื้นที่กำหนดมาตรการรับมือ โดยกรมทรัพยากรธรณีมีแผนจะติดตั้งเครื่องวัดมวลดินเพื่อเฝ้าระวังการเคลื่อนไหวของดินในจุดเสี่ยงเหล่านั้น
ล่าสุด กรมทรัพยากรธรณี มอบกระบอกวัดปริมาณน้ำฝน 30 กระบอก ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านและอาสาสมัครในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากในจังหวัดภูเก็ต พร้อมทั้งแนะนำวิธีติดตั้งและใช้งาน ในการวัดและเตือนภัย
นายอวบ จำเริญสุข อดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านในหาน ตำบลราไวย์ เป็นหนึ่งในอาสมัครเตือนภัยของกรมทรัพยากรธรณี ทำหน้าที่นี้ตั้งแต่ปี 2554 โดยกระบอกวัดปริมาณน้ำฝนที่นายอวบมีอยู่ วัดปริมาณน้ำฝนในวันที่เกิดดินถล่มในจังหวัดภูเก็ตได้มากถึง 200 มิลลิเมตร ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ต้องอพยพ
สำหรับจังหวัดภูเก็ต นอกจากบริเวณเขานาคเกิด ต.กะรน แล้ว ที่เชิงบ้านเขาหัวควน ต.กมลา อ.กะท็ ก็เกิดดินถล่มถึง 3 จุด เมื่อ 30 มิถุนายน ทำให้ทางน้ำที่มีความกว้างเพียง 1 วา กลายเป็นลำธารที่กว้างขึ้นเกือบ 10 เมตร และพัดพาดิน และหินจากภูเขาลงมาด้วย แต่เหตุการณ์นี้ไม่มีผู้เสียชีวิตและ ที่นี่ เป็น 1 ใน 7 จุดเสี่ยงในจังหวัดภูเก็ต ที่กรมทรัพยากรธรณี ระบุว่าต้องเร่งหามาตรการป้องกันผลกระทบจากการถล่มเพิ่มโดยเร็ว โดย 6 จุดที่เหลือกระจายกันอยู่ในพื้นที่ ต.กะรน ต.ป่าตอง และตำบลกมลา
แท็กที่เกี่ยวข้อง ดินถล่ม ,ดินถล่มภูเก็ต ,สำรวจดินถล่ม ,พื้นที่เสี่ยงดินถล่ม