สังคม

'กรมประมง' เเจ้งกำหนดการเเถลงต้นตอ-ผลกระทบจาก 'ปลาหมอคางดำ' 17 ก.ค.นี้

โดย parichat_p

15 ก.ค. 2567

114 views

การรุกรานเเละเเพร่กระจายเป็นวงกว้างของ "ปลาหมอคางดำ" ทำให้ตอนนี้ภาคประชาสังคม เริ่มมีความกังวลต่อสถานการณ์นี้ หลายฝ่ายจึงเรียกร้องให้ตรวจสอบเเหล่งที่มาเเละต้นตอเพื่อหาคนรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งผลกระทบทางระบบนิเวศสิ่งเเวดล้อม เเละการประกอบอาชีพของเกษตรกร


ปรากฏการณ์เรื่องปลาหมอคางดำ" ที่วันนี้ หลุดเข้ามาถึงใจกลางกรุง ในบึงย่านมักกะสัน กำลังเป็นประเด็นร้อนที่ภาคประชาสังคม นักวิชาการ เเละฝ่ายการเมือง ต่างพูดถึงเเละวิพากษ์วิจารณ์ โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ถูกหยิบยกมาตั้งกระทู้ถามในสภาฯ โดย ส.ส.พรรคก้าวไกล "นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์" ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา จากการนำเข้า"ปลาหมอสีคางดำ"


"ปลาหมอคางดำ" จัดอยู่ในกลุ่มเอเลี่ยนสปีชีส์ เพราะเป็นสัตว์ต่างถิ่นที่มีผลต่อระบบนิเวศ


จากข้อมูลพบว่า ปลาชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา ลักษณะพิเศษ คือจุดสีดำขนาดใหญ่บริเวณคาง หลังกระพุ้งแก้ม และด้านหลังของฐานคีบหลังที่น่าสนใจคือ พวกมันสามารถอยู่ได้ทั้งในสภาพน้ำจืด และน้ำกร่อย รวมทั้งแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว เพราะออกลูกได้เฉลี่ยคราวละ 300 - 500 ตัว


ด้วยลักษณะเฉพาะที่ปรับตัว ให้อยู่รอดเเละทนทานในเเหล่งน้ำ ประกอบกับมีถิ่นกำเนิดในต่างประเทศ จึงมีคำถามว่า พวกมันมาอาศัยเเละเเพร่กระจายในไทยได้อย่างไร


ข่าว 3 มิติ พยายามหาคำตอบนี้ จึงตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับไป ก็พบว่า


- ในปี 2549 คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง หรือ IBC มีมติอนุญาตให้เอกชนรายหนึ่ง นำเข้าปลาหมอสีคางดำจากกานา ทวีปแอฟริกา เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิล


- จนปี 2553 เอกชนรายนี้ นำเข้าปลาหมอสีคางดำ 2,000 ตัว ตั้งศูนย์ทดลองใน ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เเต่ไม่นานหลังจากนั้น มีรายงานพบปลาหมอสีคางดำได้ทยอยตายภายใน 3 สัปดาห์ ผู้ที่เกี่ยวข้องในขณะนั้นอ้างว่า ได้ทำลายซากด้วยการฝังกลบ


- กระทั่งปี 2555 เกษตรกรในพื้นที่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ซึ่งก็อยู่ไม่ไกลจากเเลปทดลอง พบการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำเป็นครั้งแรก


-กลายเป็นปัญหาต่อเนื่องเรื่อยมา จนถึงปี 2560 พบการระบาดในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน ทั้งภาคกลาง ตะวันออก เเละภาคใต้ไปจนถึง จ.สงขลา


-จนช่วงต้นปี 2561 กรมประมง อาศัยอำนาจตามมาตรา 65 แห่งพระราชกำหนดการประมง ออกประกาศเรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง พ.ศ.2561


มีสัตว์น้ำ 3 ชนิดพันธุ์ ประกอบด้วย

1. ปลาหมอสีคางดำ

2. ปลาหมอมายัน

3. ปลาหมอบัตเตอร์


ถ้าอิงจากไทม์ไลน์ ดูเหมือนว่า ปลาหมอคางดำ ก็น่าจะไม่เหลืออยู่เเล้ว เเต่ที่น่าสังเกตคือ จุดที่พบการระบาดครั้งเเรก ก็เจอในพื้นที่อัมพวาสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวกัน เเต่ก็ยังไม่มีหลักฐานใดมายืนยันว่า ปลาหมอคางดำ เเพร่กระจายได้อย่างไร


หลายฝ่ายตั้งคำถามไปที่เอกชนเเละกรมประมง เพื่อขอตัวอย่างดีเอ็นเอจากปลาในเเลปที่อ้างว่าตายเเละฝังกลบเเล้ว มาเปรียบเทียบกับปลาที่เเพร่ระบาด เเต่ผู้รับผิดชอบกลับอ้างว่า ไม่ได้เก็บไว้เเล้ว


เพื่อหาคำตอบนี้ กลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำจืด จึงลงพื้นที่สำรวจเเละศึกษา เพื่อหาที่มาของการแพร่ระบาด ทั้งการหาข้อมูลระยะห่างทางพันธุศาสตร์ การจัดลำดับความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการ จนได้ผลสรุปที่ชี้ให้เห็นว่า ปลาหมอสีคางดำที่แพร่ระบาด มีแหล่งที่มาร่วมกัน"


ล่าสุด กรมประมง เเจ้งกำหนดการสื่อมวลชน จะจัดเเถลงข่าวเพื่อความชัดเจนในวันพุธที่ 17 กรกฎาคม

คุณอาจสนใจ

Related News