สังคม

'ชัชชาติ-กรมประมง' ลงพื้นที่สำรวจปัญหา 'ปลาหมอคางดำ' ระบาด วาง 6 มาตรการสกัด

โดย panwilai_c

13 ก.ค. 2567

29 views

ปลาหมอคางดำ กำลังเป็นสัตว์น้ำที่คุกคามระบบนิเวศไปในหลายพื้นที่ของประเทศแล้วหลังพบการแพร่ขยายพันธุ์ออกไปอย่างรวดเร็ว ล่าสุดพบกระจายในแหล่งน้ำธรรมชาติของกรุงเทพมหานครแล้ว อย่างน้อย 3 เขต วันนี้ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ จึงประสานกรมประมง ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์พร้อมวางแนวทางแก้ปัญหา



นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.เขตบางขุนเทียน พร้อมผู้บริหารสำนักงานเขตบางขุนเทียน ผู้แทนกรมประมง และผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์แพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ



โดยนายชัชชาติ บอกว่า ปลาหมอคางดำได้แพร่กระจายมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเริ่มมาจากจังหวัดสมุทรสงคราม คือ เขตบางขุนเทียน ทุ่งครุ และบางบอน ซึ่งมีเกษตรกรประมาณ 900 ราย ที่ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์น้ำ มีวังกุ้ง วังปลา



การแพร่ระบาดเข้ามาของปลาหมอคางดำที่แพร่พันธุ์ได้เร็วมาก ทนทานต่อสภาพแวดล้อม กินปลาเล็ก ไข่ปลา เป็นอาหาร ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนมากและจะทำให้เกิดผลกระทบเป็นห่วงโซ่ไปถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ ไม่เพียงเฉพาะเกษตรกร และกทม.ต้องเร่งประสานความร่วมมือทุกหน่วยงานเพื่อแก้ไขปัญหานี้



ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครทำงานร่วมกับกรมประมงอย่างใกล้ชิด และต้องหาวิธีเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ เพราะกิจการเสียหายมาก รายได้ลดลงเป็น 10 เท่า ในการแก้ปัญหา กรุงเทพมหานคร ต้องฟังกรมประมงเป็นหลักเพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญ พร้อมติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง แม้ตอนนี้จะแพร่ระบาดใน 3 เขต แต่แนวโน้มคงขยายไปไกลกว่านี้



ด้านนายศรายุทธ์ เมธินาพิทักษ์ หัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการด้านประมง กรมประมง กล่าวว่า กรมประมงได้สรุปเป็นมาตรการในการแก้ไขปัญหา 6 มาตรการ คือ คือ การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด และมีการพัฒนาเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดปลาหมอคางดำ มาตรการที่ 2 กำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพง 3 การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ 4 การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายประชากรปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชน ลงพื้นที่สำรวจจังหวัดที่มีลำน้ำเชื่อมต่อกับจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง



มาตรการที่ 5 สร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการกำจัดปลาหมอคางดำ เพื่อป้องกันและพร้อมรับมือการแพร่ระบาด และมาตรการที่ 6 คือ การติดตาม ประเมินผล



ทั้งนี้รวมถึงนำผลงานวิจัยและเทคโนโลยีมาแก้ปัญหา เช่น การผลิตปลาหมันเพื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำให้ไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำในธรรมชาติเพื่อให้เป็นหมันไม่สามารถแพร่พันธุ์ต่อได้

คุณอาจสนใจ

Related News