สังคม

กต.ลงพื้นที่สำรวจการปักปันเขตแดนไทย-มาเลเซีย เผยคืบหน้ามากสุดในรอบ 52 ปี

โดย panwilai_c

28 พ.ค. 2567

76 views

กระทรวงการต่างประเทศ นำสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ติดตามความคืบหน้าการปักปันเขตแดนระหว่างไทยและมาเลเซีย ซึ่งมีความคืบหน้ามากที่สุดในรอบ 52 ปี นับจากมีความร่วมมือในการสำรวจและปักปันเขตแดนร่วมกัน หลังสนธิสัญญาระหว่างสยามกับอังกฤษ เมื่อปี 1909



นายณัฐพล ขันธหิรัญ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ด่านพรมแดนตากใบ จ.นราธิวาส รับฟังความคืบหน้าการสำรวจและปักปันเขตแดนที่กระทรวงการต่างประเทศ​ โดยกองเขตแดน กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมแผนที่ทหาร ดำเนินการมาถึงจุดที่มีความคืบหน้ามากที่สุด ในรอบ 52 ปี นับจากมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ในการสำรวจและการปักปันเขตแดนระหว่างไทยและมาเลเซีย ในปี 1972 นับจากสนธิสัญญาระหว่างสยามกับอังกฤษ ในปี 1909 หรือ พ.ศ.2452

ซึ่งเขตแดนไทย-มาเลเซีย มีความยาวประมาณ 647 กิโลเมตร แยกเป็นเขตแดนตามสันปันน้ำ 552 กิโลเมตร และร่องน้ำลึก 106 กิโลเมตร ระหว่างจังหวัดสตูล สงขลา ยะลา และนราธิวาส ของไทย กับ รัฐเปอร์ลิส รัฐเคดาร์ และ รัฐกลันตัน ของมาเลเซีย โดยมีการปักหลักเขตไปแล้ว ตั้งแต่ครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี 2453-2455 ได้ 109 หลัก และระยะที่ 2 ในปี 2516-2528 อีก 12,169 หลัก และในปี 2536 มีการซ่อมแซมหลักเขตที่ชำรุด และสูญหาย



โดยแม่น้ำโลกที่ถูกกำหนดให้เป็นเขตแดนไทย-มาเลีเซีย มีการสำรวจและปักปันเขตแดน ตั้งแต่ปึ 2543-2452 ใช้เวลา 9 ปี สร้างหลักอ้างอิงเขตแดนบนแม่น้ำโกลก ได้แล้ว 1,550 แนว ซึ่งมีการนำสื่อมวลชนลงเรือสำรวจสภาพพื้นที่สองฝั่ง ที่เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ ทั้งจากผลกระทบจากน้ำท่วม และการสร้างตลิ่งริมฝั่ง



สำหรับการปักปันเขตแดนไทย-มาเลเซีย ถือว่าราบรื่นไม่มีปัญหาข้อพิพาท แต่เหตุที่ใช้เวลานานกว่า 115 ปี นับจากสนธิสัญญา 1909 เพราะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลทั้งสองประเทศ ซึ่งการปักปันเขตแดนยังมีความจำเป็นและสำคัญ เพราะจะสร้างความชัดเจนทั้งด้านความมั่นคง การป้องกันอาชญากรรม เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ โดยจะมีการเสนอคณะรัฐมนตรีในการตั้งคณะกรรมการเพื่อนำไปสู่การเจรจาระหว่างไทย-มาเลเซียต่อไป



หลังสนธิสัญญาระหว่างสยามและอังกฤษ ปี 1909 ทำให้รัฐกลันตัน ตรังกานู เปอร์ลิส และไทรบุรี ตกเป็นของมาเลเซีย ทำให้ คนสยาม ซึ่งเป็นชื่อเดิมของประเทศไทย ที่อยู่ในดินแดนทั้ง 4 รัฐ กลายเป็นประชากรของประเทศมาเลเซีย ที่มีเชื้อสายสยาม หนึ่งในนั้นคือชุมชนชาวสยามที่วัดพิกุลทองวราราม ตำบลตุมปัต รัฐกลันตัน ที่ยังคงวัฒนธรรม ประเพณี และอัตลักษณ์ การเป็นคนสยาม หรือคนไทยดั้งเดิม โดยเฉพาะภาษาที่เป็นอัตลักษณ์ และการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา อย่างเช่นที่วัดพิกุลทองวราราม ซึ่งเป็นวัดโบราณเก่าแก่กว่า 700 ปี ก็ยังได้รับการสนับสนุนดูแลจากรัฐบาลมาเลเซียด้วย



สำหรับคนสยามในมาเลเซีย ได้รับสิทธิการเป็นพลเมืองเหมือนชาวมาเลเซีย ทั้งด้านการศึกษา และสวัสดิการต่างๆ ซึ่งได้รับการยอมรับและมีความภาคภูมิใจในการเป้นคนสยามในมาเลเซีย



การลงพื้นที่ของกระทรวงการต่างประเทศ ได้ชื่มชมการรักษาอัตลักษณ์ของคนสยามในมาเลเซีย ซึ่งวันพรุ่งนี้จะมีการพบคนไทยในมาเลเซียที่ไม่มีสัญชาติ และการลงพื้นที่ทำความเข้าใจเรื่องการปักปันเขตแดนกับประชาชนในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสด้วย

คุณอาจสนใจ

Related News