สังคม

ทนายบุ้ง-กลุ่มทะลุวัง ขีดเส้น 'กรมราชทัณฑ์' 4 วัน ขอรับภาพจากกล้องวงจรปิดวันเกิดเหตุ

โดย parichat_p

20 พ.ค. 2567

28 views

ทนายความของ บุ้ง เนติพร ได้รับประวัติการรักษาย้อนหลัง 5 วันก่อนเสียชีวิตแล้ว ส่วนภาพจากกล้องวงจรปิด ที่บันทึกเหตุการณ์เช้าวันที่ บุ้ง เสียชีวิต กรมราชทัณฑ์ยังไม่มอบให้ ทีมทนายและกลุ่มทะลุวังระบุอีก 4 วัน จะมาขอรับภาพบันทึกเหตุการณ์


ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์หลังเดินทางเข้ารับเอกสาร ประวัติการรักษาย้อนหลัง 5 วัน ของนางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง


โดยนายกฤษฎางค์ กล่าวว่า ทางทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ให้ความร่วมมือหาข้อเท็จจริง โดยให้เอกสารมา 27-28 แผ่นแต่ยังไม่ทราบว่าเอกสารที่ได้มาเกี่ยวกับอะไรเพราะยังไม่ได้เปิดดู ส่วนเรื่องกล้องวงจรปิด ทางโรงพยาบาลขอเวลา รวบรวมเนื่องจากต้องใช้เทคนิคทางวิชาการ คือต้องการที่จะเบลอหน้า ของบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องซึ่งตนก็เห็นด้วย เพราะอาจจะมีภาพของผู้ต้องขัง หรือผู้ป่วยอื่นติดมาด้วย แต่ในความเป็นจริงตามภาพมีบุคคลอื่นที่ติดมาไม่เยอะ เพราะรูปดังกล่าวนั้นจะซูมแค่รูปเตียงของบุ้งและตะวันนอนอยู่ และภาพหิ้วบุ้งลงไปที่ห้องฉุกเฉิน ชั้นล่างเตรียมที่จะส่งไปที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ มีเอกสารว่าวันนั้นมีใครไปกับบุ้งที่โรงพยาบาลบ้าง


และทางเราต้องการภาพเคลื่อนไหวเพื่อที่จะมาเปรียบเทียบกับเอกสารที่ทางโรงพยาบาลให้ว่าสอดคล้องกันหรือเปล่า ตนถามทางโรงพยาบาลว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ที่จะได้ภาพในส่วนนี้ทางโรงพยาบาลก็ตอบว่าต้องใช้เวลาสักระยะ ตนจึงบอกไปว่าขอเวลาเพียง 4 วันซึ่งตนก็เห็นใจทางโรงพยาบาลแต่ตนก็อยากได้ภาพเพื่อที่จะนำมาประกอบเอกสารพร้อมหลักฐาน ก็ถือว่าทางเราให้โอกาสทางโรงพยาบาลมาเยอะแล้ว ซึ่งทางเราจะมารับภาพเคลื่อนไหวดังกล่าวนั้นในวันศุกร์นี้ และทางโรงพยาบาลตอบรับมาว่าจะทำให้เร็วที่สุด


นายกฤษฎางค์ตั้งข้อสังเกตอีกว่าจากการพูดคุยกับทางเจ้าหน้าที่ และทางผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ว่าภาพถ่ายกล้องวงจรปิดนั้น ทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ก็ได้เคยดูไปแล้ว ซึ่งแสดงว่าก็สามารถที่จะดำเนินการได้แล้ว และไม่น่าจะต้องใช้เวลานานนัก ซึ่งการเบลอหน้าหรือการตัดต่อภาพหรือวิดีโอตนรู้มาว่าสื่อมวลชนก็อยู่มากับการตัดต่อการถ่ายคลิปวิดีโอก็น่าจะทราบดีว่าไม่น่าจะใช้เวลานานขนาดนี้ ตนก็เลยกำหนดว่าจะต้องใช้เวลาเพียงแค่ 4 วันเท่านั้น และจะต้องมีผลการรายงานการทำ CPR และการพยุงตัวลงไปที่ห้องฉุกเฉินใช้วิธียังไงพยุงไปหรือหิ้วปีกไป ซึ่งถ้าทุกอย่างชัดเจนก็ไม่ควรมีอะไรปิดบัง


ส่วนนี่คือภาพบริเวณชั้น 2 ของอาคารพักรักษาตัวของบุ้ง จะมีห้องขนาดใหญ่ทั้งหมด 4 บล็อก (Blog) เลขที่ 2/1-2/4 โดยทุกห้องเป็นห้องพัดลมทั้งหมด ห้องเลขที่ 2/1-2/2 พบว่ามีเตียงวางทั้งหมด 10 เตียง โดยไม่มีกระจกกั้นใด ๆ ขณะที่ห้องเลขที่ 2/3-2/4 จะถูกซอยไว้ทั้งหมด 4 ห้อง (พร้อมเตียง 4 เตียง ขนาด 3 ฟุต มีหมอน 2 ใบ คือ สีน้ำตาล 1 ใบ และสีขาว 1 ใบ ผ้าห่มสีฟ้า 1 ผืน และเตียงถูกปูด้วยผ้าปูสีขาว) และมีกระจกพร้อมติดตั้งลูกกรงสีน้ำตาล ขณะที่ในส่วนทางเดิน หรือปลายเท้าของผู้ป่วย จะเป็นเตียงนอนและที่นั่งสำหรับเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขในเรือนจำ (อสรจ.) ซึ่งจะสวมเสื้อสีฟ้า จำนวน 1 รายต่อ 1 บล็อก รวมทั้งหมดบนชั้น 2 มีเจ้าหน้าที่ อสรจ. รวม 4 ราย


สำหรับห้องพักผู้ป่วยของบุ้ง กว้างประมาณ 1.1 เมตร ยาวประมาณ 2 เมตร ส่วนเตียงของบุ้งและตะวัน เจ้าหน้าที่ยืนยันว่า บุ้งและตะวันนอนเตียงเดียวกัน เนื่องจากเป็นความต้องการของทั้ง 2 คน ซึ่งเตียงที่นอนมีขนาด 3 ฟุต และภายในห้องมีชั้นลิ้นชัก3 ชั้น ด้านบนมีการวางเครื่องวัดความดันแบบพกพา ยาแก้ปวดท้อง ยาแก้ปวดศีรษะ เจลแอลกอฮอล์ และปรอทวัดไข้แบบดิจิตอล 3 แท่ง และยังมีหัวเตียงมีจ่ายออกซิเจนบนหัวเตียงอีกด้วย ซึ่งห้องของบุ้งอยู่ติดริมลูกกรงทางเดิน / ส่วนกล้องวงจรปิดจากที่สังเกตเห็นเพียงบริเวณทางเดินด้านหน้า 1 ตัว มุมกล้องหันมาที่เตียงของบุ้ง


การออกแบบกราฟฟิคห้องพักนี้ สร้างขึ้นจากบันทึกของผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ซึ่งก่อนนี้เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์นำสื่อมวลชนเข้าดูอาคารผู้ป่วยนักโทษหญิง ภายในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ โดยมีเงื่อนไขห้ามสื่อมวลชนนำอุปกรณ์การสื่อสารเข้าไป โดยเจ้าหน้าที่รับปากว่าจะนำภาพจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ที่กรมราชทัณฑ์ ที่เป็นผู้บันทึกภาพมาแจกให้กับสื่อมวลชน แต่ต่อมาได้ปฎิเสธที่ส่งภาพให้โดยอ้างว่าขัดต่อระเบียบ โดยอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ให้ผู้สื่อข่าวที่เข้าไปสังเกตการณ์ ประมวล ความคิดเห็นและความรู้สึก เป็นภาพออกมาตามที่เห็น

คุณอาจสนใจ

Related News