สังคม

นำร่องนโยบาย 'เดินได้เดินดี' กทม.ปรับปรุงทางเท้า 16 แห่งทั่วกรุง เพิ่มความทนทาน แก้น้ำขัง

โดย nut_p

25 เม.ย. 2567

38 views

นโยบายเดินได้เดินดี เป็น 1 ในนโยบายของกรุงเทพมหานครที่มีแผนปรับปรุงทางเท้าทั่วกรุงเทพฯ ให้คนทุกกลุ่มสามารถสัญจรได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งล่าสุด กทม.ได้เข้าปรับปรุงทางเท้าแล้วใน 16 เส้นทางนำร่องแรก โดยกำหนด 10 มาตรฐานใหม่เป็นแนวทางที่ปรับใช้กับทางเท้าทุกเส้นในความรับผิดชอบของกทม. จากนี้ตั้งเป้าปรับปรุงต่อเนื่องให้ครบทุกเส้นทางภายในปี 2568 รวมกว่า 1,000 กิโลเมตร



ทางเท้าตลอดถนนเพลินจิต และ ราชดำริ ได้รับการปรับปรุงใหม่ นามนโยบายเดินได้เดินดีของกรุงเทพมหานคร โดยปรับปรุงโครงสร้างเดิมของพื้นให้มีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น ร่วมกับการออกแบบให้ถนนแต่ละเส้นมีความโดดเด่นและอัตลักษณ์ประจำย่าน เช่น เพลินจิต และ ราชดำริ ที่เป็นย่านเศรษฐกิจกลางเมือง



นอกจากนี้ยังปรับรางระบายน้ำจากเดิมที่เป็นช่องระบายติดกับฟุตบาท มาเป็นรางระบายตลอดแนวถนนเพื่อการระบายน้ำที่ท่วมขังได้เร็วขึ้น



ในอดีตทางเท้าของกรุงเทพมหานครมีพัฒนาการมา 3 รูปแบบ คือ ก่อนปี 2542 เป็นแบบอิฐบล็อกบนพื้นฐานทรายก่อถนน และเปลี่ยนจากอิฐบล็อกเป็นกระเบื้องคอนกรีตในปี 2542-2564 ร่วมกับการใช้กระเบื้องซีเมนต์อัดแรง รองชั้นด้วยกระเบื้องปูนทราย คอนกรีตหยาบ และทรายอัดตามลำดับ โดยรูปแบบ 3 เจนที่ผ่านมามีอายุการใช้งานที่สั้นและเสียหายง่าย



มาตรฐานใหม่ 10 ข้อของทางเท้า กทม.จึงเปลี่ยน พื้นทางเท้าเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ด้วยคอนกรีตหนา 10 เซนติเมตร และเหล็ก 6 มิลลิเมตร และอีกรูปแบบที่เพิ่มการลาดยางแอสฟัลต์ ก่อนถึงชั้นบนสุดที่เป็นแอสฟัลต์คอนกรีตหนา 5 เซนติเมตร เพื่อเพิ่มความแข็งแรง พร้อมปรับลดระดับความสูงของทางเท้าจาก 18.5 เซนติเมตร เหลือ 10 เซนติเมตร



นอกจากนี้ยังปรับทางออกอาคารให้เสมอกับทางเท้าเพื่อให้สัญจรได้สะดวก ปรับทางเชื่อมและทางลาดให้ลาดเอียงน้อยลง เพิ่มตัวเลือกการใช้วัสดุปูทางเท้า เช่น วัสดุแอสฟัลต์ และคอนกรีต อิฐนำทางให้ผู้พิการ รวมถึงการปรับปรุงคอกต้นไม้ และ ช่องรับน้ำ เพื่อเพิ่มอัตราการไหลของน้ำ



ส่วนเส้นทางในตรอกซอกซอย หรือ ที่มีทางเท้าแคบ ทางกทม.จะใช้วิธีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ เช่น การตีเส้นกำหนดช่องทางที่ชัดเจน เพิ่มความกว้างของทางเท้า เพื่อการสัญจรที่ง่ายขึ้น และรื้อสิ่งกีดขวาง ส่วนเส้นทางที่การสัญจรไม่หนาแน่นเช่น เขตกรุงเทพชั้นนอกก็จะใช้วิธีปูแอสฟัลต์ให้เรียบเสมอ



โฆษกกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ตอนนี้มีทางเท้าในกรุงเทพที่ปรับปรุงเสร็จสิ้นและอยู่ระหว่างการปรับปรุง 16 เส้นทาง โดยในปี 2567 จะขยายเพิ่มอีก 38 เส้นทาง ประมาณ 86 กิโลเมตร และ อีก 22 เส้นทางในปี 2568 รวมทั้งหมด 76 เส้นทาง ประมาณ 1,000 กิโลเมตร ทั่วกรุงเทพมหานคร



กรณีพบทางเท้าชำรุด ก็สามารถแจ้งได้ทันทีผ่านช่องทางทราฟฟี่ฟองดูว ซึ่งสำนักการโยธาและเขต จะจัดส่งชุดเคลื่อนที่เร็วเข้าดำเนินการ

คุณอาจสนใจ