สังคม

เปิดเวทีเสวนา สัตว์ป่าในไทย พบ 'วัวเเดง' เพิ่มจำนวน ชี้ความสมบูรณ์ระบบนิเวศ

โดย panwilai_c

26 มี.ค. 2567

52 views

ประชากรเสือโคร่งในป่าอนุรักษ์ของไทย หลายพื้นที่มีเเนวโน้มเพิ่มขึ้น ปัจจัยสำคัญหลักส่วนหนึ่งก็มาจากจำนวนเหยื่อหรือสัตว์ผู้ถูกล่า มีการขยายพันธุ์เเละอัตราการเกิดเพิ่มมากขึ้น หนึ่งในนั้นก็คือ วัวเเดง



ล่าสุด กรมอุทยานเเห่งชาติ สัตว์ป่าเเละพันธุ์พืช ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดนิทรรศการภาพถ่ายเเละเวทีเสวนา "วัวเเดง ลมหายใจเเห่งป่าราบต่ำ" เพื่อบอกเล่าเรื่องราวเเละให้ความรู้เกี่ยวกับวัวเเดง สัตว์ป่าที่เป็นสัญลักษณ์ของการอนุรักษ์ เเละเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศ



ภาพถ่ายวัวเเดงเหล่านี้ คือผลงานจากช่างภาพสัตว์ป่ามืออาชีพ เรื่องราวเเละผลงานที่ผ่านมา ถูกรวบรวมมาจัดทำเป็นหนังสือเเละจัดเเสดงบริเวณโถงชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมเเห่งกรุงเทพมหานคร โดยกรมอุทยานเเห่งชาติสัตว์ป่าเเละพันธุ์พืช คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ WWF ประเทศไทย เเละภาคีเครือข่าย 9 องค์กร ในรูปเเบบของนิทรรศการภาพถ่ายที่ใช้ชื่อว่า "วัวเเดง ลมหายใจเเห่งป่าราบต่ำ"



นอกจากเยาวชนคนไทย ยังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เข้ามาเยี่ยมชมเเละบันทึกภาพกันเป็นระยะ



เรื่องราวเเละความน่าสนใจของวัวเเดง คือประเด็นหลักที่หยิบยกมาคุยกันในเวทีเสวนา จากนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้ง ม.เกษตรศาสตร์ ม.มหิดล กรมอุทยานฯ เเละผู้เชี่ยวชาญจาก WWF



"วัวเเดง" อยู่รวมเป็นฝูงหากินในป่าราบต่ำ มีรูปลักษณ์ที่สวยงามเเละเป็นเอกลักษณ์ เเต่ปัจจุบันมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ในบัญชีเเดงของ IUCN ภัยคุกคามหลักมาจากการล่าเพื่อสะสมเขาวัวเเดง การสูญเสียพื้นที่อาศัยหากิน ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ประชากรลดลงอย่างน่ากังวล ซึ่งปัจจุบันพบว่า ทั่วทั้งโลกมีอยู่ราว 8,000 ตัวเท่านั้น ส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้



จากการสำรวจล่าสุด พบว่าไทยมีวัวเเดงอาศัยหากินในธรรมชาติ อยู่ราว 1,000 ตัวโดยอาศัยในพื้นที่คุ้มครอง 22 แห่ง จากพื้นที่สำรวจ 210 แห่ง และในจำนวนนี้มี 13 พื้นที่คุ้มครองเเล้ว ที่ปรากฏการเจริญพันธุ์ของวัวแดง โดยประเมินจากการพบเห็นฝูง ที่มีแม่-ลูกอยู่ด้วยกัน



และผืนป่าที่เป็นความหวัง ในการอนุรักษ์ฟื้นฟู ขณะนี้มี 3 พื้นที่คุ้มครอง คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง / เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน / อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งพบกลุ่มประชากรวัวแดง ที่มีขนาดของฝูงตั้งแต่ 50 ถึง 500 ตัว



นอกจากนี้ยังพบวัวแดงจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งที่มีเสือโคร่งมากที่สุด วัวเเดงยังกระจายตัวไปยังพื้นที่คุ้มครองข้างเคียง เช่น อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นดัชนีชี้วัดที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของผืนป่าขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อกัน เอื้อให้สัตว์ป่า สามารถอาศัยหากินและเดินทางในผืนป่าได้อย่างอิสระ



ในห้วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศไทย ร่วมกันทำโครงการ-ศึกษาวิจัย เพื่อขยายพันธุ์วัวเเดงเข้าไปในผืนป่าอนุรักษ์ ซึ่งได้วางกรอบทั้งระยะสั้นระยะยาว ที่ผ่านมา มีโมเดลที่สำเร็จไปเเล้วก็คือ การปล่อยวัวเเดงคืนธรรมชาติที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ



การเสวนาเเละนิทรรศการครั้งนี้ หลายฝ่ายจึงคาดหวังว่า นี่จะเป็นจุดเริ่มต้น ในการสื่อสารให้ทุกคนได้รู้จักวัวเเดง สัตว์ป่าที่ควรค่าเเก่การอนุรักษ์ให้อยู่คู่ผืนป่าไทย อย่างยั่งยืนตลอดไป

คุณอาจสนใจ