สังคม

กมธ.ที่ดิน ตรวจแปลงที่ดินพิพาท ส.ป.ก.-อุทยานฯ เห็นช่องโหว่ออกเอกสารสิทธิ์ พร้อมให้ชี้แจงขั้นตอน

โดย parichat_p

4 มี.ค. 2567

31 views

วันนี้(4 มี.ค.67) กรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่ตรวจสอบที่ดินแปลงพิพาทระหว่าง ส.ป.ก.กับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยมีรองเลขาธิการ ส.ป.ก. และหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ชี้แจง ขณะที่การลงพื้นที่วันนี้ แม้ไม่ได้บทสรุปเรื่องแนวเขต ซึ่งต้องรอการพิจารณาของคณะกรรมการone map และให้คณะรัฐมนตรีมีมติรับรอง แต่กรรมาธิการฯ ก็เห็นว่ามีช่องโหว่ ทั้งในแง่การหาข้อมูลเพื่อนำเข้าที่ประชุมone map และช่องโหว่ของ ส.ป.ก.ที่จะจัดสรรที่ดินให้ราษฎร ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรีบแก้ไข


นายอภิชาติ ศิริสุนทร ประธานกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะกรรมาธิการ ลงพื้นที่บ้านเหวปลากั้ง ตำบลหมูสี เพื่อดูพื้นที่พิพาทระหว่าง ส.ป.ก. กับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยนายชัยยา ห้วยหงษ์ทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และนายวัฒนา มังธิสาร รองเลขาธิการ ส.ป.ก. ร่วมชี้แจงข้อเท็จจริงของทั้งสองฝ่าย


โดยจุดที่กรรมาธิการเข้าตรวจสอบ แปลงที่พิพาทกับกรมอุทยานฯ เข้าไปตรวจสอบ 1 แปลง จากจำนวน 5 แปลงที่มีชื่อผู้ถือครอง ส.ป.ก.แล้ว และเป็นแปลงที่มีการปลูกไม้ผลเช่นมะม่วง รวมถึงเป็นแปลงเดียวกับที่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทานฯ พร้อมเจ้าหน้าที่ถอนหมุด ส.ป.ก ออกจากแปลงนี้ เนื่องจากเห็นว่ารุกล้ำเข้ามาในเขตอุทยานและบริเวณนี้มีแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นที่อาศัยของพลายด้วน และพลายขุนศึก ช้างป่าเพศผู้ที่หากินและอาศัยในบริเวณนี้


ที่แปลงนี้ รองเลขาธิการ ส.ป.ก. ยืนยันว่าบริเวณนี้เป็นป่าจำแนก ฯ ที่ ส.ป.ก.ได้รับมาแล้วในอดีต จากนั้นก็มีการปลูกป่าเพิ่มเติมโดยยอมรับว่า หากมองสภาพป่าขณะนี้ ถือว่าไม่เหมาะที่จะจัดสรรให้เป็นที่ทำกิน แต่หากจะตรวจสอบภาพถ่ายและข้อมูลย้อนหลังก่อนหน้านี้ เชื่อว่าที่นี่มีการทำกินมาก่อน ต่อมาจึงปลูกป่าเพิ่มเติมพร้อมกับย้ายคนที่เคยที่เคยทำกินออกไป จากนั้นป่าจึงสมบูรณ์ขึ้น อย่างไรก็ตาม ส.ป.ก.ยังถือว่า แปลงนี้ไม่ทับซ้อนกับอุทยานฯ แม้ว่าจะไม่เหมาะสมที่จะจัดสรรให้ทำกินแล้วก็ตาม


ขณะที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการว่าฯ อุทยานฯยึดถือตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฏีกามาตลอด ซึ่งก็เห็นว่าแต่ละหน่วยงานถือแผนที่คนละฉบับก็จริง แต่ขณะที่มีความพยายาม ออกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.ให้ผู้เข้าทำกินตั้งแต่ปีที่แล้ว อุทยานฯได้พยายามคัดค้านมาตลอด แต่กลับไม่เป็นผล


นายอภิชาติ สอบถามต่อรองเลขาธิการ ส.ป.ก.ว่า มีหนังสือถามตอบ ระหว่าง สำนักงาน ส.ป.ก. กับคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ คือ คทช.ว่าแปลงพิพาทดังกล่าวอยู่ในเขตใดแน่ ซึ่งบางฉบับของ ส.ป.ก.ตอบว่า แปลงพิพาทอยู่ในเขต ส.ป.ก. และบางฉบับ กลับบอกว่าอยู่ในเขตอุทยานฯ


ทำให้นายวัฒนา อธิบายเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ ที่ตอบสื่อสารดังกล่าวไป เนื่องจากได้ดูเฉพาะรูปแปลงหรือเชฟไฟล์ แต่ไม่ได้ดูรายละเอียดให้ครบ แต่ข้อเท็จจริงคือยืนยันว่าอยู่ในเขต ส.ป.ก.


ในระหว่างการหารือที่แปลงพิพาทบริเวณบ้านเหวปลากั้งนี้ มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งมายื่นหนังสือต่อกรรมาธิการว่า เป็นชาวบ้านเหวปลากั้ง เป็นคนในพื้นที่แต่ไม่ได้ที่ทำกิน จึงขอให้การออก ส.ป.ก. ช่วยพิจารณาคนในพื้นที่ด้วย


จากนั้นคณะกรรมาธิการ ได้ไปตรวจสอบหมุด ส.ป.ก. ที่เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯและกรมป่าไม้ พบที่ริมลำน้ำลำตะคองตั้งแต่เมื่อ สามก่อน ซึ่งตั้งข้อสังสัยว่า เหตุใดมีหมุด ส.ป.ก. ปักอยู่ริมห้วยฝั่งซ้าย และฝั่งขวาของลำน้ำลำตะคอง ซึ่งเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการปักคร่อมลำน้ำ โดยรองเลขาธิการ ส.ป.ก. ยืนยันว่า ได้ตรวจสอบแปลงนี้แล้วเบื้องต้น พบว่าอยู่ในเขตป่าจำแนกฯ ที่ ส.ป.ก. มีสิทธิ์ออกกรรมสิทธิ์ให้ทำกินได้ และระบุว่าโดยปกติแล้ว การรังวัดเฉพาะในพื้นที่ประกาศเขต ของส.ป.ก.ไม่จำเป็นจำแจ้งให้หน่วยงานอื่นมาร่วมก็ได้ ตราบใดที่ไม่ได้รังวัดล้ำออกไป แต่หากเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวกับหน่วยงานอื่นก็มีวิธีปฎิบัติที่ต่างออกไป


นายวัฒนา ระบุว่า แม้จะเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.จะมีอำนาจออกเอกสารสิทธิ์ในเขตที่ประกาศไปแล้ว ก็มีหลักเช่นกันว่าจะไม่ออกไปในพื้นที่ลาดชันเกิน 35 เปอร์เซ็น หรือพื้นที่ซึ่งไม่เหมาะจะทำเกษตรกรรม เช่นกรณีแปลงเขาวังหิน ที่เห็นว่าไม่เหมาะจะทำเกษตร แต่เขาทั้งลูกก็อยู่ในเขต ส.ป.ก.ดังนั้น จะหาทางร่วมกับชุมชน หรือกรมป่าไม้พัฒนาให้เป็นป่าที่ดีเช่นกัน


ขณะที่นายอภิชาติ ระบุว่าปมขัดแย้งเรื่องเขตพื้นที่ถึงที่สุดต้องรอการพิจารณาของวันแมป เพื่อเป็นมติคณะรัฐมนตรี แต่ระหว่างนี้ก็พบช่องโหว่ของการพิจารณาข้อมูลแผนที่ ที่จะนำเข้าสู่มติวันแมป ซึ่งต้องพิจารณาให้รอบคอบขึ้น เช่นเดียวกับ การจะพิจารณาออกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก. ที่พบช่องโหว่จากการให้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ ต่อ ส.ป.ก.ฝ่ายเดียว จนเกิดกรณีการออกแปลงที่ไม่เหมาะสมดังกล่าว จึงเห็นว่าต้องแก้ไข


อย่างไรก็ตาม ข่าว 3 มิติ ได้ข้อมูลล่าสุด จาก ส.ป.ก.ว่า หมุด ส.ป.ก. ที่พบริมน้ำลำตะคอง ไม่มีการขึ้นรูปแปลงที่ดิน โดยรองเลขาธิการ ส.ป.ก.ระบุว่ามีรูปแปลงที่ดินที่ริมเขาจริง แต่ไม่มีรูปแปลงในฝั่งที่พบหมุดริมน้ำ


ตอนนี้สันนิษฐานว่า เป็นไปได้ว่าฝังหมุดไม่หมด แล้วนำมาวางไว้โดยไม่เก็บไปให้ครบ อีกทั้งไม่มีใครออกเอกสารสิทธิ์ คร่อมลำน้ำได้อยู่แล้ว


สำหรับคำตอบของเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.ต่อกรณีหมุดดังกล่าว เป็นเพียงการสันนิษฐานเบื้องต้นว่ามีความเป็นไปได้แบบนี้ แต่เห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการออกเอกสารสิทธิ์คร่อมลำน้ำลำตะคองอย่างแน่นอน

คุณอาจสนใจ

Related News