สังคม

สภาอุตฯ หวังไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายคาร์บอนเครดิตภูมิภาค หลังเอกชนไทยสำเร็จข้อตกลงเจ้าแรกของโลก

โดย panwilai_c

24 ก.พ. 2567

97 views

หลังจากประเทศไทยร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีส Paris Agreement ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปี 2559 และในปี 2565 ไทยและสมาพันธรัฐสวิสได้ลงนามร่วมกันในข้อตกลงในถ่ายโอนคาร์บอนเครดิต จากโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและยานยนต์ไฟฟ้า ภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี บริษัทเอกชนไทยที่ให้บริการรถเมล์ไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร สร้างประวัติศาสตร์เป็นโครงการแรกในโลก ที่จะนำไปสู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ และคาดหวังว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ขณะที่รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เตรียมผลักดันศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต ให้ไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายคาร์บอนเครดิตในภูมิภาค



การซื้อขายคาร์บอนเครดิต หรือการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจก ภายใต้ Article 6.2 ของความตกลงปารีส Paris Agreement ซึ่งจัดทำโดยภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการประชุม COP 26 ซึ่งประเทศไทยเป็น 1 ใน 197 ประเทศสมาชิก ตั้งแต่ปี 2559 และในปี 2565 ไทยและสหพันธรัฐสวิสฯ ได้ลงนามในข้อตกลงที่จะถ่ายโอนคาร์บอนเครดิต จากโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี ในต้นเดือนมกราคม 2567 บริษัทไทยสมายล์ กรุ๊ป ซึ่งให้บริการรถเมล์พลังงานไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร ได้เป็นบริษัทแรกของโลกที่ซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ กับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้สำเร็จ



การซื้อขายคาร์บอนเครดิต จะตรวจวัดจากจำนวนคนที่มาใช้บริการรถเมล์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า โดยมีมูลนิธิ มี Klik Foundation ของสวิตเซอร์แลนด์ เป็นผู้รับซื้อเพื่อวัดปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งรถเมล์พลังงานไฟฟ้า 1 คัน ทดแทนการปลูกต้นไม้ 80 ต้น และตั้งเป้าจะขายคาร์บอนเครดิตให้ได้5 แสนตัน โดยรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตก็จะนำมาจัดหารถไฟฟ้ามาบริการให้ประชาชนเพิ่มขึ้น เป้าหมายคือลดฝุ่น PM 2.5 ด้วย



บริษัทพลังงานบริสุทธ์ ซึ่งเป็นพันธมิตรการซื้อขายคาร์บอนเครดิตข้ามประเทศครั้งนี้ เห็นว่า ความสำเร็จนี้ทำให้ไทยเป็นที่จับตาของทั่วโลก ซึ่งต้องขอบคุณคณะรัฐมนตรีแลรัฐบาลที่เห็นชอบให้บริษัทเอกชนไทยที่มีความพร้อมสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้เป็นแห่งแรกของโลก ซึ่งกรุงเทพมหานครและรัฐบาลสามารถต่อยอดเพื่อส่งเสริมการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและแก้ปัญหาฝุ่น pm ภายใต้โครงการ Bangkok E-Bus Programme



นายสมโภชน์ อาหุนัย ในฐานะรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า รัฐบาลสามารถสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย ซึ่งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ตั้งขึ้นแล้วและจะจับมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจำ เพื่อจัดทำระบบให้มีประสิทธิภาพ โดยมีการจัดตั้งศูนย์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย



สำหรับรัฐบาลมีการจัดตั้งกรมโลกร้อน หรือกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม มาดูแลเรื่องนี้แล้ว ภาคเอกชนจึงคาดหวังว่าจะเกิดการทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ร้อยละ 20–25 ภายในปี พ.ศ. 2573 ตามข้อตกลงปารีสได้ในที่สุด

คุณอาจสนใจ

Related News