สังคม

สทน. จับมือ วช. - ม.ราชภัฏ ต่อยอดการเพิ่มมูลค่าอาหารท้องถิ่น ด้วยนวัตกรรมฉายรังสี

โดย nut_p

7 ม.ค. 2567

60 views

ปัจจุบันเทคโนโลยีการฉายรังสีกลายมาเป็นวิธีหนึ่งในการยกระดับสินค้าชุมชน และ ธุรกิจ SME เพื่อความปลอดภัยและคุณภาพของอาหารมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือการผลักดันให้กลุ่มผู้ประกอบการเห็นประโยชน์ตรงจุดนี้ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. จึงได้ต่อยอดโครงการพัฒนา และวิจัยผลิตภัณฑ์ด้วยการฉายรังสีร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ โดยหวังถึงการปรับใช้นวัตกรรมยกระดับคุณภาพ และวิจัยสินค้าสู่การตลาดเชิงพาณิชย์ร่วมกับชุมชน



การฉายรังสีเพื่อรักษาคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร เป็นการนำเทคโนโลยีมายกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าอีกวิธีหนึ่งของผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SME เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์สู่การต่อยอดเชิงพาณิชย์ โดยปัจจุบันนิยมใช้รังสีอยู่ 3 ชนิด คือ รังสีแกมม่า รังสีอิเล็กตรอน และ รังสีเอ็กซเรย์



ดร.กนกพร บุญศิริชัย ผู้จัดการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีนิวเคลียร์ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. อธิบายว่า การฉายรังแสงจะช่วยลดปริมาณเชื้อจุรินทรีย์ ทำให้อาหารปลอดภัย และ ยังยืดอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น สร้างโอกาสการเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ เฉลี่ย 20-50%



โดย ผู้จัดการศูนย์วิจัย ได้ยกตัวอย่างสินค้า เป็นเครื่องแกงไตปลาก้อนพร้อมปรุง สินค้าจากวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์บ้านบนนบ จังหวัดพัทลุง ที่ปัจจุบันได้นำเทคโนโลยีการฉายรังสีมาใช้ แทนการอบนึ่ง



ซึ่งรสชาติและตัววัตถุดิบยังคงเนื้อเดิม แต่ขยายอายุการเก็บรักษาได้จาก 6 เดือน เป็น 1 ปี ตอนนี้ก็ได้ต่อยอดผลิตภัณฑ์หลากหลายสูตร ทั้งแกงไตปลา แกงเขียวหวาน มัสหมั่น และแกงเหลือง



สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้ใช้งานวิจัยเข้าต่อยอดองค์ความรู้ของชุมชนร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ สร้างความเข้าใจในการใช้รังสี เพื่อสร้างการยอมรับ ซึ่งนักวิจัยจะได้ร่วมกับชุมชนวิจัยและพัฒนาตัวสินค้า แตกย่อยสู่ผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ ๆ ที่สามารถจำหน่ายได้ทั้งในและต่างประเทศ ในชื่อโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างมูลค่า ให้กับอาหารพื้นถิ่นและอาหารฟังค์ชันด้วยการฉายรังสี ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2564



ล่าสุด สทน. และ วช. ได้ลงนามความร่วมมือด้านเทคโนโลยีการฉายรังสีในอาหาร ขยายไปยังเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏอีก 4 แห่ง ในจังหวัดอุดรธานี บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ เพื่อขยายโอกาสทางการตลาดไปยังวิสาหกิจชุมชนและ SME ในภูมิภาคคะวันออกเฉียงเหนือจากพื้นที่เดิมในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งตอนนี้มีผลิตภัณฑ์เข้าร่วมโครงการรวมแล้ว 543 ผลิตภัณฑ์

คุณอาจสนใจ