สังคม

ทีมวิจัย สจล. ทดลองปรับปรุงอาคารคาร์บอนต่ำ ตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

โดย nut_p

30 ต.ค. 2566

141 views

เรามาดูตัวอย่างของการปรับปรุงอาคารเก่าให้เป็นอาคารหลังใหม่ ด้วยการใช้แนวคิดการพัฒนายั่งยืน ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากที่สุด ทั้งในขั้นตอนการปรับปรุงและใช้งาน ซึ่งทีมวิจัยจากคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พบว่าสามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในช่วงระหว่างการปรับปรุงได้มากถึงเกือบ 50 เท่า จากขั้นตอนปกติ



อาคาร วช.7 อายุกว่า 30 ปี ภายในสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กลับมาเปิดใช้งานอีกครั้งในชื่อศูนย์พัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่ออนาคตและความยั่งยืนหลังถูกทิ้งร้างมานานหลายปี ซึ่งการกลับมาเปิดใช้งานใหม่ในครั้งนี้เป็นการทดลองแนวทางปรับปรุงอาคารเดิม โดยทีมนักวิจัยจากคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และภาคเอกชน ตามแนวคิดการพัฒนายั่งยืน ด้วยการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากที่สุด ทั้งระหว่างการรื้อถอน ก่อสร้าง และการใช้งานหลังจากนั้น



นายกฤษฎา พลทรัพย์ 1 ในทีมวิจัยโครงการปรับปรุงอาคาร เล่าว่า การรีโนเวตครั้งนี้จึงจำเป็นต้องคำนวณและวางแผนในขั้นตอนและรายละเอียดเป็นอย่างดี ตั้งแต่กระบวนการรื้อถอน การนำวัสดุกลับมาใช้ซ้ำ การเลือกใช้วัสดุ รวมไปถึงการใช้พลังงาน



เช่น การนำเศษคอนกรีตจากการทุบทำลายมาทำกล่องเกเบี้ยนเพื่อยกระดับพื้น ลดการพลังงานระหว่างการขนย้าย หรือ การใช้วัสดุจากธรรมชาติอย่างไม้ยางพารา ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของรองศาสตราจารย์ ทรงกลด จารุสมบัติ จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตร์ศาสตร์ ก็ถูกนำมาปรับใช้ร่วมกับงานวิจัยอื่นๆ จนเกิดเป็นอาคารหลังใหม่ขึ้นมา



ผศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ จินต์จันทรวงศ์ หัวโครงการปรับปรุงอาคาร ระบุว่า ต้นแบบอาคารแห่งนี้เป็นโครงการต่อยอดสู่การก่อสร้างอาคาร ในรูปแบบลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลการปรับปรุงอาคารหลังนี้สามารถลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในช่วงการก่อสร้างได้มากกว่าปกติเกือบ 50 เท่า



การนำงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องมาใช้ จะทำให้เกิดการต่อยอดและพัฒนาวัสดุชิ้นงานให้แพร่หลายมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการลดภาวะโลกร้อน



ข้อมูลสถานการณ์โลกร้อนล่าสุดระบุว่า อุณหภูมิทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ปี 1880 ที่เป็นยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นถึง 1.2 องศาเซลเซียส และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 2.7 องศาเซลเซียในปี 2100 ซึ่งจะส่งผลให้ภาวะโลกรวนรุนแรงขึ้น



นักวิจัยในเวทีเสวนาทิศทางการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ต่างยืนยันผลการศึกษาตรงกันว่า กิจกรรมที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุดมาจากภาคส่วนของที่อยู่อาศัยและอาคารสำนักงาน ทั้งทางตรงและทางอ้อม สอดคล้องกับข้อมูลจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติที่ระบุว่า ภาคส่วนของอาคารมีส่วนมากถึง ร้อยละ 38 ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน



ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติระบุว่า อาคาร วช.7 ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ คือ ตัวอย่างของการใช้เครือข่ายนักวิจัย ให้ชิ้นงานได้รับการพัฒนาและถูกนำมาปรับใช้จริง สู่การสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนด้วยวิจัยและนวัตกรรม



เบื้องต้น อาคารนี้ประสบความสำเร็จแล้วในการลดกระบวนการก่อสร้างจนลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างน่าพึงพอใจ จากนี้ต้องติดตามผลกันต่อถึงปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และ ความคงทนของวัสดุอุปกรณ์ที่นำมาใช้ก่อสร้าง โดยอาคารหลังนี้ยังมีอายุการใช้งานต่อได้อีกอย่างน้อย 40-50 ปี

คุณอาจสนใจ

Related News