สังคม

เตรียมขนย้ายขยะปนเปื้อนสารเคมีโรงงาน 'แวกซ์กาเบ็จฯ' คาดขนชุดแรกต้น พ.ย.นี้

โดย panwilai_c

17 ต.ค. 2566

69 views

กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมสำรวจสารเคมีตกค้างและน้ำปนเปื้อนสารเคมีที่ลงใต้ดิน ซึ่งถือเป็นเฟสที่สองของการแก้ปัญหา ภายในบริษัท แวกซ์กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จังหวัดราชบุรี หลังจากการสำรวจและทำแผนเคลื่อนย้ายในระยะ 1 เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างรอให้กรมโรงงานอุตาหกรรมพิจารณาอนุมัติตามแผน คาดว่าจะเริ่มขนย้ายชุดแรกได้ต้นเดือนหน้า โดยแผนระยะที่ 1 นี้ ใช้งบกลางที่รัฐบาลอนุมัติมา ราว 59 ล้านบาท



ตัวแทนบริษัทเบตเตอร์เวิล์ดกรีน ในฐานะผู้รับจ้างโครงการจ้างเหมากำจัดและบำบัดของเสียเคมีวัตถุตกค้าง ในโรงงานแวกซ์กาเบ็จฯที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้ว่าจ้าง ชี้ให้เห็นความเสี่ยงของอาคารเก็บวัตถุเคมีที่ได้สำรวจเพื่อเตรียมเคลื่อนย้าย ซึ่งนอกจากหลังคารั่ว จนน้ำฝนชะล้างสารเคมีแล้ว ยังพบว่าหลายชนิดเป็นวัตถุไวไฟ



โครงการฯนี้ใช้งบกลางที่รัฐบาลอนุมัตกว่า 59 ล้านบาท เพื่อทำงานในระยะที่ 1 คือเคลื่อนย้ายวัตถุเคมีบนดินทั้งหมดไปกำจัดบำบัดนอกโรงงาน สัญญามีผลตั้งแต่ 1 กันยายนที่ผ่านมา กำหนดแล้วเสร็จภายในมีนาคมปีหน้า



ข้อมูลที่บริษัทเบตเตอร์ เวิลด์ กรีน สำรวจวัตถุเคมีและสิ่งของปนเปื้อนที่ต้องขนย้ายทั้งหมดประกอบด้วย ถังขนาด 200 ลิตร จำนวน58,548 ใบ ดินปนเปื้อนที่ขณะนั้นนำมาถมซับน้ำสารเคมีในโกดังที่ถูกเพลิงไหม้จำนวน 3446 ตัน / ถังเบาท์หรือถึงIBC ขนาด 1 พันลิตร จำนวน946 ใบ / ปี๊ปขนาด 18 กิโลกรัม จำนวน9800 ใบ / น้ำมันปนเปื้อน 772 ลูกบาศก์เมตร และถุงbigbag รวม 450 ตัน



ตอนนี้ข้อมูลและแผนการขนย้าย อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมโรงงานอุตสาหกรรม บริษัทเบตเตอร์ฯคาดว่าจะเริ่มขนย้ายเที่ยวแรกได้ 2 พฤศจิกายนนี้



ขณะที่ชาวตำบลน้ำพุ ขอบคุณรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมที่ลงพื้นที่รับฟังปัญหาและขอให้ผลักดันการแก้ไขในเฟสที่ 2 คือการของเสียใต้ดิน จนถึงเฟส 3 คือการบำบัดฟื้นฟู เพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไขต่อเนื่องและรวดเร็ว



ขณะที่รัฐมนตรีอุตสาหกรรมยืนยันให้เจ้าหน้าที่เดินหน้าขนย้ายวัตถุเคมีอันตรายให้แล้วเสร็จแต่ต้องรัดกุมไม่ให้ผลกระทบระหว่างดำเนินงาน และจะผลักดันการแก้ปัญหาเฟส 2 และ 3 ต่อเนื่อง



อีกด้านหนึ่งชาวบ้านเรียกร้องให้ภาครัฐ เร่งเยียวยา ฟื้นฟู หรือแก้ไขผลกระทบต่ออาชีพเกษตรกรรม ควบคู่ไปกับการกำจัดขยะ โดยเฉพาะหามาตรการให้ชาวบ้านมีน้ำเพื่อทำการเกษตรแทนห้วยน้ำพุที่ถูกประกาศห้ามใช้ เพราะเมื่อทำเกษตรกรรมไม่ได้ ผู้คนที่นี่ก็ไม่มีรายได้เช่นกัน

คุณอาจสนใจ