สังคม

เบื้องหลังการเลือก 'พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล' เป็น ผบ.ตร.คนใหม่ ใครโหวตเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย

โดย panwilai_c

27 ก.ย. 2566

246 views

การประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. เพื่อแต่งตั้ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ แทน พล.ต.อ.ดำรงค์ศักดิ์ กิตติประภัสร์ ที่กำลังจะเกษียณอายุราชการในอีก 3 วันนี้ ช่วงเริ่มต้นการประชุม เกิดกระแสข่าวออกมาว่า การประชุมได้เลื่อนออกไปก่อน โดยให้ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร.อาวุโสอันดับ 1 รักษาการไปก่อน เพื่อให้เลยจากช่วงเวลาที่เกิดความขัดแย้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อย่างน้อย ก็รอให้การสอบสวน กรณีการค้นบ้าน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล โดยคณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรี ตั้งขึ้น กระแสข่าวดังกล่าว สื่อมวลชนหลายสำนักได้ สรุปและนำเสนอข่าวไปตามนี้แล้ว แต่สุดท้าย เรื่องกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะในที่ประชุม ก.ตร. ได้มีมติให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. อาวุโสอันดับ 4 ขึ้นเป็น ผบ.ตร. คนใหม่



การประชุม ก.ตร.วันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เลือก 1 ใน 4 ของรอง ผบ.ตร เพื่อให้ คณะกรรมการ ก.ตร.ยกมือโหวตว่าเห็นด้วยหรือไม่ รอง ผบ.ตร. ทั้งที่ 4 คน ที่อยู่ในแคนดิเดต ตามอาวุโสดังนี้



1 พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ เกษียณปี 2567

2 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล เกษียณปี 2574

3 พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ เกษียณปี 2569

และอาวุโสอันดับ 4 คือ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เกษียณปี 2567



แม้ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ที่บังคับใช้ในการแต่งตั้ง ผบ.ตร.ครั้งนี้ เป็นครั้งแรก จะกำหนด

ให้พิจารณาจากอาวุโส แต่ก็เปิดช่องให้อ้างอิง ความรู้ความสามารถประกอบได้ สุดท้ายการประชุมวันนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เลือก 1 ใน 4 คือ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. อาวุโส อันดับ 4 แล้วให้ ก.ตร. โหวตว่าเห็นด้วยหรือไม่ ปรากฏว่า ได้รับเสียงสนับสนุน 9 เสียง และไม่เห็นด้วยเพียงเสียงเดียว จึงเป็นอันว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ได้เป็น ผบ.ตร.คนใหม่



พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล อายุ 59 ปี เป็นน้องของพลอากาศเอกสถิตย์พงศ์ สุขวิมล เลขาธิการพระราชวัง จบปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังเรียนจบ ได้เข้าทำงานที่บริษัทน้ำมันคาลเท็กซ์ 7 ปี ก่อนลาออกเข้าเป็นตำรวจ โดยผ่านหลักสูตรผู้มีวุฒิทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจรุ่นที่ 4 รุ่นเดียวกับนายวัน อยู่บำรุง เคยอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญ ประกอบด้วย ผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองปราบปราม ปี 2561 ขึ้นเป็นผู้บังคับการ กองบังคับการถวายความปลอดภัยและปฏิบัติการพิเศษ ปี 2563 เป็นผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ปี 2564 เป็นผู้ชัวย ผบ.ตร. และปี 2565 ขึ้นเป็น รอง ผบ.ตร.



ภายในห้องประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. เพื่อแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนที่ 14 โดยรอง ผบ.ตร.ที่เป็นคู่แข่งทั้งหมด 4 คน มาร่วมประชุม 2 คน โดยพล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ไม่มาร่วมประชุม ก่อนเข้าประชุม นายกรัฐมนตรีได้พูดคุยนอกรอบกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมการ ก.ตร. พอถึงเข้าห้องประชุมคณะกรรมการ ก.ตร. นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอชื่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ซึ่งมีความอาวุโสอันดับ 4 เป็น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ คณะกรรมการ ก.ตร. เป็นผู้โหวตแบบเปิดเผย



ในช่วงเวลา 13.30 นาที นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาประชุม ก.ตร .

โดยเป็นการมาประชุมครั้งแรก ของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องเป็นประธานการประชุม ซึ่งก่อนเข้าประชุม



นายเศรษฐาได้พูดคุยกันในวงเล็กก่อน มีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ พล.ต.อ.วินัย ทองสอง และพล.ต.อ.มนู เมฆหมอก คณะกรรมการ ก.ตร. พูดคุยกันประมาณ 15 นาที หลังจากนั้นมีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ และ คณะกรรมการ ก.ตร. คนอื่นๆ เข้าไปร่วมเป็นชุดที่ 2 ส่วนชุดสุดท้ายเป็น รองผบ.ตร.



ซึ่งเป็นแคนดิเดตที่มาในวันนี้คือ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล และพล.ต.อ.กิตติรัตน์ พันธุ์เพช็ร ขณะที่พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ ติดภารกิจ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ลาไม่มาประชุมมีการพูดคุยกันประมาณ 15 นาที แคนดิเดท ทั้ง 2 คน ก็ออกจากห้องมากับ ผบ.ตร.



และก็ถึงเวลาประชุมเลือก ผบ.ตร.คนที่ 14 โดยแคนดิเดท ไม่สามารถเข้าห้องประชุมได้ ภายในห้องประชุมศรียานนท์ ซึ่งเป็นห้องประชุมใหญ่ วาระการประชุมเลือก ผบ.ตร. เป็นวาระท้ายๆ ได้ขยับขึ้นมาเป็นวาระแรก โดยเลขาของสำนักงานกำลังพล ได้ชี้แจงประวัติ ระยะเวลาทำงาน ประสบการณ์ และผลงานของ รอง ผบ.ตร.ทั้ง 4 คน โดยนายกรัฐมนตรีได้สอบถามว่ามีใครเคย ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนหรือไม่ พบว่าไม่มีใครเคยถูกตั้งคณะกรรมการสอบ นายกรัฐมนตรี ได้เปิดให้ คณะกรรมการ ก.ตร.เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องอาวุโส และความรู้ความสามารถ ของผู้ที่จะเป็น ผบ.ตร. ได้มี คณะกรรมการ ก.ตร.เสนอความคิดเห็นกันพอสมควร



หลังจากนั้น นายเศรษฐา ได้เสนอชื่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็น ผบ.ตร. โดยให้เหตุผลว่าเป็นคนมีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ และให้มีการโหวตแบบเปิดเผย ไม่ใช้โหวตลับ โดยมีคณะกรรมการ กตร.ทั้งหมด 12 คน ยกมือเห็นด้วย 9 เสียง และ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ไม่เห็นด้วย 1 เสียง เพราะยึดตามหลักกฏหมาย และอาวุโส ส่วนนายกรัฐมตรี และ นายประทิต สันติประภพ งดออกเสียง



หลังจากได้รับการโปรดเกล้า เป็น ผบ.ตร.แล้ว ผบ.ตร.คนใหม่ จะเป็นผู้แต่งตั้ง รอง ผบ.ตร. ผู้ช่วย ผบ.ตร ไปจนถึงผู้บัญชาการต่อไป

คุณอาจสนใจ

Related News