สังคม

35 องค์กรเรียกร้อง 'ครม.เศรษฐา' ไม่ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 3 จังหวัดชายแดนใต้

โดย parichat_p

17 ก.ย. 2566

54 views

เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน 35 องค์กร ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้คณะรัฐมนตรี ไม่ต่ออายุประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ขณะที่นายกรัฐมนตรีขอดูรายละเอียดก่อนว่าจะต่ออายุหรือไม่


35 องค์กรภาคประชาชน ออกแถลงการณ์ขอให้ คณะรัฐมนตรี ต้องไม่มีมติ ต่ออายุประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548



เพื่อแสดงเจตจำนงทางการเมืองต่อพันธกรณีระหว่างประเทศต่อหน้ายูเอ็น ในการประชุม United Nations General Assembly ที่กรุงนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกาในเดือนกันยายนนี้ และทำให้นานาประเทศมีความเชื่อมั่นต่อระบบกฎหมายปกติไทยตามเจตนารมณ์ที่สำคัญในการแถลงนโยบายรัฐบาลที่จะยึดมั่นและเคารพต่อหลักนิติธรรม


ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนี้ว่ายังไม่เห็นวาระในการประชุม ครม. ขอกลับไปดูวาระการประชุม เพราะเพิ่งเดินทางกลับมาจากจังหวัดเชียงใหม่


ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ เรื่องการต่ออายุ พรก.ฉุกเฉิน ในจังหวัดชายแดนใต้ ว่ายังไม่เห็นเรื่อง แต่ได้เห็นว่าเมื่อสมัยรองนายกฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้อนุมัติข้ามมาแล้ว เดี๋ยวจะขอไปดูเรื่องก่อน เพราะเรื่องนี้มีคณะกรรมการดูแลอยู่หลายขั้นตอน และเวลาสั้นมาก และได้ให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมช่วยเข้าไปประสานงานแล้ว


สำหรับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ออกโดยคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรครั้งแรก เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2548 ต่อมา ครม.ทุกรัฐบาลได้มีการขยายการประกาศใช้ติดต่อกันมาครั้งล่าสุดเป็นครั้งที่ 72


และประกาศครั้งสุดท้ายโดยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามที่เสนอโดย พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ครั้งที่ 2/2566 ซึ่งมีผลตั้งแต่ 20 มิ.ย.2566 และจะสิ้นสุด 19 ก.ย.2566 ทำให้ที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 18 ปีเต็ม หรือ 216 เดือนที่มีการประกาศให้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายร้ายแรงติดต่อกันส่งผลต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นการปฏิบัติที่ขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ ทั้งยังไม่มีผลต่อการยุติความขัดแย้งในพื้นที่ และไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนแต่อย่างใด

คุณอาจสนใจ

Related News