สังคม

'พิธา' เผยขึ้นค่าแรง 450 บาท จะไม่ปรับแบบกระชาก จะเป็นไปตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ

โดย parichat_p

23 พ.ค. 2566

93 views

ความเคลื่อนไหวหลังพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลลงนาม MOU วันนี้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เข้าพบ คณะผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. และให้สัมภาษณ์หลังการหารือว่าจะไม่ขึ้นค่าแรง 450 บาทแบบกระชาก แต่จะเป็นไปตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และประสิทธิภาพของแรงงาน


ผู้สื่อข่าวรายงานการหารือระหว่างนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และคณะผู้บริหารสภาอุตสาหกกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. ภายหลังการพูดคุยนานกว่า 2 ชั่วโมงว่าเป็นไปด้วยความราบรื่น นายพิธา กล่าวว่า สัปดาห์นี้จะเน้นเรื่องเศรษฐกิจ โดยได้พูดคุย เรื่องนโยบายอุตสาหกรรมยุคใหม่ เอกชนสอบถามเรื่องนโยบายพรรคร่วมรัฐบาล พลังงาน กฎหมายที่อาจล้นเกิน การแก้ปัญหาคอรัปชั่น พร้อมแลกเปลี่ยนความเห็น ซึ่งต่อไปจะได้ทำงานกันอย่างใกล้ชิด เจาะลงไปในรายกลุ่ม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และพร้อมสนับสนุนหนุน เอสเอ็มอี เพื่อให้มีแต้มต่อ สู้กับเศรษฐกิจโลก


สำหรับเรื่องค่าแรง ได้คุยกันในภาพรวม เรื่องการขาดแคลนแรงงาน และพบว่ามีเรื่องที่ไม่สอดคล้องในอุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมต้องการคนมาทำงานแต่หาคนไม่ได้ ขณะเดียวกันพบว่ามีคนเรียนจบมาแต่ไม่มีงานทำ ด้วยนิยามคำว่า "อัตราการว่าง" ที่ไม่ตรงกัน รวมถึงทักษะของแรงงาน การพูดถึงค่าแรงที่เหมาะสม ทางพรรคได้อธิบาย ให้ส.อ.ท.สบายใจว่า ไม่ได้มองเหรียญเพียงด้านเดียว เพราะต้องมีการช่วยผู้ประกอบการด้วย เช่น การลดภาษีให้ธุรกิจเอสเอ็มอี การให้ธุรกิจหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า นาน 2 ปี และมาตรการที่สมัยรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์เคยทำ คือ เพิ่มสภาพคล่องให้เอกชน


ส่วนกรอบตัวเลขนั้น พรรคก้าวไกลยังคงไว้ที่ 450 บาท และต้องหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งมีกรอบตัวเลขที่ต่างกัน รวมถึงหารือสภาแรงงาน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยืนยันจะไม่ปรับขึ้นแบบกระชาก ระบบ โดยเห็นตรงกันว่า ต้องขึ้นตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และประสิทธิภาพของแรงงาน


ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้ขอให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัย ทำกฎหมายใหม่ให้อุตสาหกรรมใหม่เกิดขึ้น และต่อไปจะมีคณะทำงานร่วมกันระหว่าง ส.อ.ท. กับรัฐบาลแยกรายกลุ่มอุตสาหกรรม เสริมกับการทำงานของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน หรือ กรอ. ซึ่งเป็นภาพใหญ่ ยอมรับว่าที่เคยกังวลกับนโยบายการขึ้นค่าแรงของพรรคร่วมรัฐบาล ก็เบาใจลง เพราะนายพิธาก็รับฟังและจะนำไปหารือ เพราะนายพิธาเองก็เคยเป็นสมาชิก ส.อ.ท. จึงเข้าใจผู้ประกอบการเป็นอย่างดี


ต่อมาช่วงบ่าย ที่พรรคก้าวไกล นายพิธาได้แถลงข่าวหลังลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมเอ็มโอยูอีกครั้งว่า เอ็มโอยูของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลทั้ง 8 พรรค เป็นเพียงวาระการทำงานร่วมกันขั้นต่ำ//ในส่วนของพรรคก้าวไกล 300 นโยบาย ที่เคยหาเสียงไว้ทางพรรคพยายามผลักดันต่อให้สำเร็จ ที่เป็นวาระร่วมก็อย่างที่เห็นเมื่อวาน 23 ข้อ แต่ในขณะเดียวกันก็มีวาระเฉพาะของพรรคก้าวไกลที่พยายามผลักดันผ่านสองกลไก คือกลไกการบริหาร และในฐานะว่าที่นายกรัฐมนตรี ก็จะมีอำนาจในการบริหารจัดการให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงให้ได้มากที่สุด และสอง คืออำนาจรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลที่จะอยู่ในกระทรวงต่างๆ ในการผลักดันวาระที่อาจจะไม่ได้อยู่ในเอ็มโอยู แต่อยู่ในนโยบาย 300 ข้อของพรรคก้าวไกล และสาม หากพรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นเจ้ากระทรวง เราก็ยังประสานงานกับรัฐบาลร่วม ในการพูดคุยเจรจาให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงผลักดันนโยบายของพรรคได้


ด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ ว่าที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวถึงความไม่มั่นใจของนักลงทุนเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคก้าวไกลว่า พรรคก้าวไกลได้ให้ความชัดเจน 2 เรื่องคือ 1. การลงนาม MOU ร่วมกัน 8 พรรคการเมือง 313 เสียง ซึ่งถือว่าเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ มีส.ส.เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร และ 2. การลงนามร่วมกันว่าวาระขั้นต่ำที่นำเสนอผ่าน MOU มีอะไรบ้าง


พร้อมกันนี้นายพริษฐ์ ยังอ้างถึงเหตุผลที่ ส.ว.เคยโหวตพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2562 เพราะพลเอกประยุทธ์ รวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของสภา จึงขอให้ยึดหลักการเดิมที่ ส.ว.เคยให้ไว้ โดยเลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลผสมที่มี 8 พรรคการเมืองโดยมีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ

คุณอาจสนใจ

Related News