สังคม

ผบ.ตร. ยัน ตร. พร้อมปฏิบัติตาม 'พรบ.ซ้อมทรมาน-อุ้มหาย' แม้อุปกรณ์ไม่เพียงพอ

โดย nut_p

19 พ.ค. 2566

123 views

มีความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง หลังจากเมื่อวานนี้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ให้มีผลบังคับใช้ทันที หลังรัฐบาลออก พ.ร.ก. ขอเลื่อนการบังคับใช้กฏหมายบางมาตราออกไป ด้วยเหตุผลข้อจำกัดเรื่องกล้องเเละความไม่พร้อมในหลาย ๆ ด้าน ล่าสุด ผู้บัญชาการตำรวจเเห่งชาติ ออกมายืนยันว่า ตำรวจพร้อมปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาล แม้อุปกรณ์ไม่พร้อม เเต่ก็ได้กำชับเจ้าหน้าที่บริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด



พลตำรวจเอกดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ บอกว่า ตำรวจพร้อมปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คือ ต้องบันทึกภาพและเสียงขณะจับกุมอย่างต่อเนื่อง และทุกครั้งที่จับหรือควบคุมตัว จะต้องแจ้งให้หน่วยงานอัยการ เเละฝ่ายปกครองทราบ เเต่ก็ยอมรับว่า ทางตำรวจยังขาดความพร้อมเรื่องอุปกรณ์การบันทึกภาพ เพราะมีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานกว่า 200,000 นาย ซึ่งไม่สอดคล้องกับจำนวนอุปกรณ์ที่มีอยู่ประมาณ 120,000 ชิ้น และบางส่วนชำรุดเสียหายแล้ว เเต่ก็ได้กำชับให้ผู้บัญชาการ ผู้กำกับการ และหัวหน้าสถานีทุกพื้นที่ คอยกำกับดูเเลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้อง โดยหมุนเวียนใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดภายใต้ข้อจำกัด



ขณะที่พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ผบ.ตร.ได้ออกหนังสือแนวทางในการปฏิบัติให้กับตำรวจทั่วประเทศ แม้อุปกรณ์จะมีไม่เพียงพอ เเต่จะพยายามหมุนเวียน และให้ใช้อุปกรณ์ส่วนตัวไปก่อน โดยเน้นย้ำว่า การปฏิบัติของตำรวจผู้จับกุม จะต้องบันทึกภาพและเสียงตั้งแต่จับกุมไปจนถึงส่งตัวให้พนักงานสอบสวน



ขณะที่ตำรวจชุดทำงานด้านสืบสวนหน่วยงานหนึ่งเปิดเผยว่า ขณะนี้ยังรอแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน เพราะเกรงแนวปฏิบัติไม่ถูกต้อง อาจถูกฟ้องร้อง หากไม่ใช่คดีใหญ่ก็จะยังไม่จับ และเห็นว่ามีตำรวจจำนวนมากไม่มีกล้อง อาจทำให้ตำรวจเกียร์ว่างได้ อีกทั้งไม่มีพื้นที่เก็บไฟล์ภาพขนาดใหญ่ เพราะกว่าคดีจะสิ้นสุดต้องเก็บนานหลายปี และตั้งคำถามว่าคดีเหตุเกิดซึ่งหน้า จะถือกล้องบันทึกภาพขณะจับคนร้าย อาจอันตรายได้



สำหรับ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เริ่มมีผลบังคับใช้มาตั้งเเต่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยฝ่ายอัยการเเละฝ่ายปกครอง ได้จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์จากการซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ทั้งในกรุงเทพเเละต่างจังหวัด เเต่ด้วยข้อจำกัดหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะฝ่ายตำรวจที่มีอำนาจหน้าที่จับกุมโดยตรง สะท้อนปัญหาเรื่องกล้องรัฐบาลจึงออก พ.ร.ก. ขอเลื่อนการบังคับใช้มาตรา 22-25 ออกไปก่อน กระทั่งเมื่อวานนี้ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้มีผลบังคับใช้ทั้ง 4 มาตราทันที



สาระสำคัญของกฏหมายฉบับนี้ หลักจะอยู่ที่มาตรา 22 กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบ ต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องขณะจับและควบคุม จนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวน หรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าวไป เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถกระทำได้ ก็ให้บันทึกเหตุนั้นเป็นหลักฐานไว้ในบันทึกการควบคุมตัว และการควบคุมตัวตามวรรคหนึ่ง กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบ ให้แจ้งพนักงานอัยการและนายอำเภอในท้องที่ที่มีการควบคุมตัวโดยทันที สำหรับในกรุงเทพมหานคร ให้แจ้งพนักงานอัยการ และผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง



ซึ่งหลายฝ่ายคาดหวังว่า เมื่อกฏหมายฉบับนี้เริ่มบังคับใช้ จะช่วยลดปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐ ซ้อมทรมาน-ทำร้ายร่างกายผู้ต้องหา การอุ้มหาย การบังคับกดขี่ด้วยวิธีการป่าเถื่อน-รุนเเรง ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

คุณอาจสนใจ

Related News