สังคม

จ่อผ่าซาก 'หลินฮุ่ย' พิสูจน์สาเหตุการตาย แจงไม่พบความผิดปกติก่อนเลือดกำเดาไหล

โดย passamon_a

19 เม.ย. 2566

131 views

หลินฮุ่ย แพนด้า เพศเมีย ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ ซึ่งหลินฮุ่ย เป็นแพนด้าที่จีน ให้ไทยดูแล เมื่อปี 2545 และได้ตาย เมื่อเวลาประมาณตี 1.10 น. คืนที่ผ่านมา



เมื่อช่วงเที่ยงที่ผ่านมา ผู้บริหารองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสัตวแพทย์ที่ดูแลแพนด้า ในสวนสัตว์เชียงใหม่ ชี้แจงรายละเอียดก่อนและหลังหลินฮุ่ย ตาย ว่า "หลินฮุ่ย" มีเลือดกำเดาไหล ระหว่างนอนอยู่ในส่วนจัดแสดงตั้งแต่เวลาประมาณ 11.00น.ของเมื่อวานนี้



นายเดชบุญ มาประเสริฐ ประธานกรรมการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยและนายวุฒิชัย ม่วงมัน ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ รวมทั้งสัตวแพทย์ผู้ดูแลหมีแพนด้า ร่วมแถลงข่าว



โดยยืนยันว่า หลังจากที่มีการสังเกตพบว่า "หลินฮุ่ย" มีอาการปกติเลือดกำเดาไหลออกทางจมูก ระหว่างนอนอยู่ในส่วนจัดแสดงตั้งแต่เวลาประมาณ 11.00น. ของเมื่อวานนี้ จึงได้ระดมทีมสัตวแพทย์ พร้อมประสานขอรับคำปรึกษาจากทางผู้เชี่ยวชาญจีนพยายามให้การรักษาอย่างเต็มกำลังความสามารถแล้วแต่ไม่สามารถยื้อชีวิตเอาไว้ได้



แล้วได้รายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งประสานกับทางการจีนให้ทราบทันที



ซึ่งถือเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย เพราะหลินฮุ่ย เป็นทูตสันถวไมตรีไทย-จีน ที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์แน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศ และตามกำหนดเดิมทางองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย เตรียมที่จะต้องส่งคืน "หลินฮุ่ย" ให้กับทางการจีนในวันที่ 12 ตุลาคม 2566 นี้ แล้ว เนื่องจากครบกำหนดสัญญา 20 ปี



ขณะที่นายวุฒิชัย ม่วงมัน ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ บอกว่า เจ้าหน้าที่ได้ประสานไปทาง สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าจีน ที่กรุงปักกิ่ง และศูนย์อนุรักษ์วิจัยหมีแพนด้า ที่เฉิงตู เพื่อขอ ปรึกษาหารือและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการรักษา นอกจากนี้ยังได้รายงานให้สถานกงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำจังหวัดเชียงใหม่ได้ทราบด้วย และมีการส่ง รองกงสุลใหญ่พร้อมเจ้าหน้าที่มาร่วมสังเกตการณ์ ตลอดจนช่วยประสานงานกับทางผู้เชี่ยวชาญ ของศูนย์อนุรักษ์หมีแพนด้า ที่เฉิงตู ผ่านทางระบบออนไลน์และวิดีโอคอลในการให้คำปรึกษาทีมสัตวแพทย์ในการรักษาอย่างต่อเนื่อง จนถึงเวลาประมาณ 01.00 น. ปรากฏว่าหลินฮุ่ยมีอาการเกร็ง และหยุดหายใจในเวลา 01.10 น.



ส่วนสาเหตุการตาย กำลังประสานทางผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีนเดินทางมาร่วมผ่าชันสูตรซากเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แน่ชัดต่อไป



โดยเบื้องต้น ทางสวนสัตว์เชียงใหม่ ได้จัดเก็บซากของ หลินฮุ่ย ไว้เป็นอย่างดีแล้วตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญจีน และเมื่อทำการผ่าพิสูจน์เสร็จแล้ว จะต้องส่งซากของ "หลินฮุ่ย" คืนให้กับทางกรจีนด้วย ตามข้อตกลงในสัญญา สำหรับค่าธรรมเนียมที่จะต้องจ่ายให้ทางการจีนกรณีหมีแพนด้าเสียชีวิตนั้น มีการทำประกันไว้วงเงิน 15 ล้านบาท ซึ่งน่าจะครอบคลุมเพียงพอ ทั้งนี้ยืนยันว่าตลอดช่วงเวลา 20 ปี ที่ผ่านมา ทางสวนสัตว์เชียงใหม่ ให้การดูแลหมีแพนด้าเป็นอย่างดี จนได้รับคำชมจากทางการจีน



ส่วนจากนี้จะยังมีการดำเนินโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทยต่อไปหรือทางการจีนจะมอบหมีแพนด้าตัวใหม่ให้มาอยู่ในประเทศไทยอีกหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับทางรัฐบาลในการเจรจาหารือกัน



ด้านนายสัตวแพทย์เทวราช เวชมนัส รักษาการหัวหน้างานสุขภาพสัตว์ และปฏิบัติหน้าที่ นายสัตวแพทย์ประจำโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้า เปิดเผยว่า ตามปกติประจำทุกวันก่อนที่จะปล่อย "หลินฮุ่ย" ออกสู่ส่วนจัดแสดงจะมีการตรวจสุขภาพอย่างละเอียดทุกครั้ง ซึ่งเมื่อวานนี้ไม่ตรวจพบความผิดปกติใดๆ จนกระทั่งช่วงสายที่มีการสังเกตพบระหว่างที่ "หลินฮุ่ย" นอนหลับพักผ่อนอยู่ได้มีเลือดกำเดาไหลซึมออกมาทางจมูก ทางทีมสัตวแพทย์จึงรีบให้การรักษาอย่างเร่งด่วนทันทีและมีการประสานขอคำปรึกษาจากทางผู้เชี่ยวชาญจีนในการรักษาตลอดทุกขั้นตอน จนกระทั่ง "หลินฮุ่ย" ตายในที่สุด



ส่วนสาเหตุที่เลือดกำเดาไหลนั้น เป็นไปได้หลายอย่าง แต่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ฝุ่นPM2.5 ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตที่แน่ชัด จะต้องรอการผ่าชันสูตรร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจีนอีกครั้ง ซึ่ง หลินฮุ่ย ด้วยอายุ 21 ปี 7 เดือน หากเทียบกับมนุษย์แล้ว อายุประมาณ 80 ปี



การตายของแพนด้า หลินฮุ่ย นับเป็นการปิดตำนานแพนด้าตัวสุดท้ายของประเทศไทย ที่มาในฐานะทูตสันถวไมตรีไทย-จีน ระหว่างช่วง 20 ปีที่ผ่านมา / ข่าว 3 มิติ จะพาย้อนรอยประวัติของเจ้าแพนด้าหลินฮุ่ย ตั้งแต่เกิดจนได้รับหน้าที่ทูต จนกระทั่งมาเป็นขวัญใจของชาวไทยชนิดที่ว่าเป็นกระแสแพนด้าฟีเวอร์อยู่ช่วงหนึ่งจนมีช่องเป็นของพวกมันเอง



ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ปี พ.ศ.2546 นับเป็นครั้งแรกที่ไทยได้รับแพนด้ายักษ์คู่แรกจากประเทศจีนมาสู่สวนสัตว์ภายในประเทศที่สวนสัตว์เชียงใหม่ ชื่อ ช่วงช่วง แพนด้ายักษ์เพศผู้ และ หลินฮุ่ย แพนด้ายักษ์เพศเมีย ซึ่งมาในฐานะทูตสันถวไมตรี ระหว่างประเทศไทย-สาธารณรัฐประชาชนจีน



หลินฮุ่ย เป็นแพนด้ายักษ์เพศเมีย เกิดเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2544 จากพ่อหมีแพนด้าชื่อ พ่านพ่าน (Pan Pan) และ แม่หมีแพนด้า ชื่อ ถังถัง (Tang Tang) ที่ศูนย์วิจัยและอนุรักษ์แพนด้ายักษ์ เขตอนุรักษ์วู่หลง เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อมาอยู่ไทยก็มีชื่อไทยว่า เทวี และ ชื่อล้านนาว่า คำเอื้อย ซึ่งทั้งช่วงช่วง และ หลินฮุ่ย ก็กลายมาเป็นดาวเด่นของสวนสัตว์เชียงใหม่นับแต่นั้นเป็นต้นมา



เมื่ออยู่ไทยได้ 6 ปี หลินฮุ่ย ได้ให้กำเนิดลูกแพนด้า เพศเมีย 1 ตัว เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นผลจากการผสมเทียมกับ "ช่วงช่วง" เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 นับเป็นแพนด้าตัวแรกของโลกที่เกิดในประเทศเขตศูนย์สูตร ในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ของหมีแพนด้า



จนกลายเป็นกระแส "แพนด้าฟีเวอร์" เมื่อสวนสัตว์เชียงใหม่เปิดให้คนไทยทั้งประเทศ โหวตตั้งชื่อให้กับแพนด้าตัวนี้ผ่าน จดหมาย และไปรษณียบัตร ซึ่งอันดับ 1 ได้แก่ชื่อ "หลินปิง" ได้รับเสียงโหวตท้วมท้น กว่า 13 ล้านฉบับ โดยได้รับความนิยมถึงขั้นมีช่องโทรทัศน์ถ่ายทอดสดชีวิตของแพนด้าแบบ 24 ชั่วโมง



แต่เรื่องเศร้าก็เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562 คู่ของ "หลินฮุ่ย" คือ "ช่วงช่วง" ได้ตายลงที่สวนสัตว์เชียงใหม่ โดยสาเหตุการตาย คณะผู้เชี่ยวชาญจาก ไทย และ จีน พบว่าเกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลว ส่งผลให้อวัยวะภายในทั่วร่างกายขาดออกซิเจน



ขณะที่เมื่อวันที่ 28 กันยายนปีที่แล้ว นายวุฒิชัย ม่วงมัน ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ และ นางสาวหยาง โจ่ง รองกงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำเชียงใหม่ เพิ่งจัดงานฉลองวันคล้ายวันเกิด 21 ปี ของหลินฮุ่ย โดยมีแฟนคลับมาร่วมร้องเพลง Happy Birthday และอวยพรวันเกิด ซึ่งหลินฮุ่ยถือเป็นแพนด้าที่มีอายุมากกว่าอายุขัยเฉลี่ยที่อยู่ระหว่าง 15-20 ปี หรือเทียบกับอายุของมนุษย์ คือ กว่า 90 ปี



นอกจากนี้หลินฮุ่ยยังเคยได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทองแดง ประเภทแพนด้าบุคลิกภาพยอดเยี่ยม จากการโหวตของแฟนคลับทั่วโลกผ่านเว็บไซต์ Giant Panda Zoo.com อีกด้วย



และเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ "หลินฮุ่ย" ได้จากไปแล้วหลังมีอาการผิดปกติตั้งแต่เมื่อวานนี้ โดยสัตวแพทย์ได้ช่วยกันรักษาจนสุดความสามารถร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีน ก่อนที่จะได้รับการยืนยันจากสวนสัตว์เชียงใหม่ว่า แพนด้าตัวสุดท้ายของไทย ได้จากไปในช่วง 01.10 น. ของวันที่ 19 เมษายน 2566

คุณอาจสนใจ

Related News