สังคม
กรมอุทยานฯ เร่งวางแนวทางเที่ยวเชิงอนุรักษ์อ่าวมาหยา พร้อมเปิดพื้นที่วิจัยฉลามหูดำ
โดย panwilai_c
9 เม.ย. 2566
96 views
หลังจากปรากฏภาพ พบฝูงฉลามครีบดำหรือฉลามหูดำ ที่บริเวณอ่าวมาหยา ทำให้บริเวณดังกล่าวกลายเป็นอีกแลนด์มาร์คของจังหวัดกระบี่ ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาจำนวนมาก เพื่อต้องการที่จะเจอฝูงฉลามบริเวณหน้าหาด ทำให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ต้องเร่งวางแผนและแนวทางปฏิบัติสำหรับการท่องเที่ยวบริเวณนี้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อระบบนิเวศ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต
พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มนักวิจัยทางทะเลเข้าศึกษาพฤติกรรมของฉลามซึ่งนี่จะเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่มีการวิจัยพฤติกรรมฉลามเพื่อนำไปสู่การวางแผนฟื้นฟูประชากรฉลาม ที่เป็นข้อบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ทางท้องทะเล ไปติดตามรายละเอียดเรื่องนี้จากรายงาน คุณ อรวรรณ ฤทธิไกล
กว่า 5 เดือน ที่โครงการ Maya Shark Watch Project ของ ศูนย์ปฎิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จ.ตรังและทีมวิจัย Thai Shark and Rays สำรวจพฤติกรรมฝูงฉลามหูดำที่อ่าวมาหยา
การสำรวจครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการการติดตามพฤติกรรมฉลาม ทำให้พบว่า ฉลามหูดำเป็นสัตว์อยู่ประจำถิ่นโดยฝูงใหญ่สุดที่เคย บันทึกภาพได้มีฉลามหูดำกว่า 100 ตัว ที่ออกหากินบริเวณแนวปะการังน้ำตื้น ของอ่าวมาหยา ซึ่ง เป็นข้อบ่งชี้ทางธรรมชาติว่าบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์
และช่วงปิดการท่องเที่ยวรอบอ่าว ที่ผ่านมาพบฝูงฉลามหูดำมีการเกิดใหม่จำนวนหนึ่ง เพราะไม่มีการรบกวนจากนักท่องเที่ยว และอ่าวมาหยามีลักษณะ ทางภูมิประเทศที่เหมาะเป็นจุดอนุบาลลูกฉลาม
ทีมนักวิจัยจึงอยากเสนอให้ กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชในฐานะเจ้าของพื้นที่มีแนวทางจัดการท่องเที่ยวใหม่เพื่อไม่ให้กระทบสิ่งมีชีวิตในบริเวณอ่าวมาหยา
ข้อปฏิบัติต่างๆเหล่านี้จึงถูกกำหนดขึ้นใหม่เมื่ออ่าวมาหยาเปิดรับการท่องเที่ยว เมื่อ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา ทั่งการจำกัดจำนวนคนและระยเวลาการเข้าเที่ยวหาด ไม่เกินวันละ 3,700 คน ห้ามนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำบริเวณอ่าวมาหยาโดยเด็ดขาด ห้ามใช้ครีมกันแดดที่อาจทำลายสัตว์น้ำและปะการัง ห้ามเรือจอดเทียบบริเวณหน้าหาด เป็นต้น ซึ่งทางกรมอุทยานฯ ต้องเร่งประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจกับกลุ่มนักท่องเที่ยว
ทั้งนี้กรมอุทยานฯยังรวบรวมข้อมูล ผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรทางทะเลบริเวณอ่าวมาหยาเพื่อทำการ ประเมินกำหนดเป็นนโยบายในระยะยาว เพื่อให้การท่องเที่ยวและการอนุรักษ์สามารถดำเนินควบคู่กันได้