สังคม

FTA Watch จี้รัฐหยุดนำเข้าข้าวโพดจากแหล่งเผาไร่ แก้ปัญหาฝุ่นควัน

โดย panwilai_c

30 มี.ค. 2566

97 views

สถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือยังวิกฤต จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองลำดับ 1 ที่มีมลพิษทางอากาศสูง ที่เชียงรายร้อยละ 70 ของฝุ่นควันมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ FTA Watch เรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์และนายกรัฐมนตรียุติการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพิษโดยทันที



มูลนิธิชีววิถี และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ FTA Watch เรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ดำเนินการอย่างเร่งด่วนให้ยุติการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากแหล่งที่มีการเผาจากประเทศเพื่อนบ้านโดยทันทีเนื่องจากเป็นต้นตอสำคัญของปัญหาฝุ่นพิษที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในภาคเหนือหลายจังหวัด



โดยอ้างอิงข้อมูลเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศของกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ถึง 19 มี.ค. 2566 พบผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ รวม 1,730,976 ราย ชี้ให้เห็นว่าปัญหาฝุ่นพิษที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับวิกฤตและเป็นภัยพิบัติร้ายแรงแล้ว



และจากการติดตามข้อมูลการนำเข้า พบว่าในปี 2564 ประเทศไทยนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศพม่า เพื่อเป็นอาหารสัตว์รวม 1.83 ล้านตัน มูลค่ากว่า 14,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 97.8% ของปริมาณการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทย หรือประมาณ 70% ของผลผลิตข้าวโพดทั้งหมดของพม่า โดยพื้นที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่ของพม่า อยู่ในรัฐฉานซึ่งเป็นบริเวณติดกับพื้นที่ภาคเหนือ ของประเทศไทย



ที่จังหวัดเชียงใหม่สถานการณ์ค่าฝุ่น PM2.5 ยังวิกฤตต่อเนื่อง ครองอันดับ 1 ของโลก เมืองที่มีค่ามลพิษทางอากาศสูงที่สุด โดยเมื่อช่วงบ่ายวันนี้ ดัชนีคุณภาพอากาศของเชียงใหม่อยู่ที่ 226 AQI ขณะที่ดัชนีคุณภาพอากาศดีไม่ควรเกิน 50 AQI



ที่ จ.เชียงราย มีรายงานพบจุดความร้อนในพื้นที่รวม 215 จุด โดยอยู่ในเขต อ.พาน มากที่สุดจำนวน 35 จุด อ.เมือง อ.แม่สรวย จำนวน 32 จุด อ.แม่จัน จำนวน 25จุด อ.เวียงเป่าเป้า จำนวน 23 จุด และเป็นที่น่าสังเกตุว่ามีการเผาในเขตป่าอนุรักษ์มากที่สุด รองลงมาคือป่าสงวนแห่งชาติ และ สปก. แต่ไม่พบว่ามีการเผาพื้นที่โล่งหรือ ทางการเกษตรเลยแต่อย่างใด และจากการศึกษาของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งได้จัดทำโมเดล เพื่อพยากรณ์และศึกษาหมอกควันที่เกิดขึ้นใน จ.เชียงราย ว่ามีแหล่งกำเนิดมาจากไหน พบว่าประมาณร้อยละ 70 มาจากประเทศเพื่อนบ้าน และพบแหล่งกำเนิดในพื้นที่เพียงร้อยละ 38 เท่านั้น

คุณอาจสนใจ

Related News