สังคม

พาดูเชียงรายโมเดล 'ลดเผาเพิ่มมูลค่า' อัดก้อนฟางข้าวเป็นอาหารสัตว์ แทนการเผา

โดย panwilai_c

12 มี.ค. 2566

295 views

ปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นทางภาคเหนือของไทยมีสาเหตุหลักมาจากการเผาไหม้ ทั้งพื้นที่ป่าและการเกษตร จากการขาดความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง ภายหลังการเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้น



ล่าสุด หลายชุมชนในจังหวัดเชียงราย หันมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตอซังข้าว ด้วยการอัดก้อนเป็นกองฟาง มาใช้ประโยชน์ทั้งจำหน่ายและเลี้ยงสัตว์ เพื่อเลี่ยงการเผา ทำให้หลายพื้นที่ในจังหวัดเชียงราย แทบไม่มีจุดความรัอนที่เกิดจากการเผาไร่อีก



กองฟางข้าวทั้งหมดนี้เพิ่งได้รับการอัดก้อนหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นเมื่อช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นี่เป็นแนวทางใหม่ของการบริหารจัดการเชื้อเพลิง เพื่อคงเหลือวัสดุที่เสี่ยงต่อการติดไฟให้ได้มากที่สุดของชาวบ้านในตำบลศรีดอนชัย อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย



โดยผู้นำชุมชนหลายแห่งเลือกใช้วิธีนี้รวบรวมฟางข้าวของชาวบ้านในพื้นที่มาไว้ใช้ประโยชน์ต่อจากการเลี้ยงสัตว์และประมง แทนการเผาทำลายทิ้ง



เช่นเดียวกับกำนันในตำบลดอยงาม อำเภอพานจังหวัดเชียงราย ที่นำแนวคิดนี้มาปรับใช้ เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์ให้กับช่วบ้านในช่วงพักนา โดยมีต้นทุนไม่ถึงก้อนละ 12 บาท มาสำรองให้กับสมาชิกในช่วงอาหารสัตว์ขาดแคลน



ความร่วมมือของภาคชุมชนที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการตั้งเงื่อนไขของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งเเวดล้อมจังหวัดเชียงราย ที่ต้องการลดการเผาไหม้ให้ได้มากที่สุด โดยให้การเผาเป็นทางเลือกสุดท้ายของการบริหารเชื้อเพลิง



ขณะที่ปี 2565 จังหวัดเชียงรายมีพื้นที่เสี่ยงของจุดความร้อนมากที่สุดใน 5 จาก 18 อำเภอ ปีนี้ทางจังหวัดจึงวางแผนนโยบายการลดการเผาไหม้ให้เป็นศูนย์ ซึ่งขับเคลื่อนโดยคณะทำงานของจังหวัด



ที่มีสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดบริหารจัดการด้านเชื้อเพลิง ใน 3 ระยะ คือระยะเตรียมการ ระยะปฏิบัติการ และระยะฟื้นฟู ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศจากจิสด้า ทำให้ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จุดความร้อนช่วงห้ามเผาในจังหวัดเชียงรายเหลือไม่ถึง 5 จุดต่อวัน จากเดิมที่กระจายอยู่ทั่วพื้นที่



เชียงรายยังคงอยู่ในช่วงออกประกาศงดเผาไปจนถึงวันที่ 15 เมษายนนี้ ซึ่งแม้ภาพรวมการบริหารจัดการเชื้อเพลิงภาคการเกษตรจะดีขึ้น แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดฝุ่นและหมอกควัน เช่น การเผาไหม้ในเขตป่าอนุรักษ์ต่างๆ ที่ยังคงขยายตัวเป็นวงกว้างทั่วพื้นที่ภาคเหนือ โดยสาเหตุหลักก็มาจากการฝีมือของมนุษย์ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากชุมชนเป็นเครื่องมือในการเฝ้าระวังในเบื้องต้น ควบคู่ไปกับนโยบายลดฝุ่นควันจากภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม

คุณอาจสนใจ

Related News