สังคม

บังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันทรมาน-อุ้มหาย หากพบการกระทำเข้าข่าย เเจ้งได้ที่ สนง.อัยการ-ที่ว่าการอำเภอ

โดย panisa_p

22 ก.พ. 2566

479 views

22 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นวันเเรกที่ พ.ร.บ.ป้องกันเเละปราบปรามการทรมานเเละการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 เริ่มมีผลบังคับใช้ ประชาชนที่พบเห็นการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย-อุ้มหาย ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต่อไปนี้ท่านสามารถเเจ้ง หรือไปร้องเรียนได้ที่ศูนย์รับเรื่องฯ ทั้งในกรุงเทพฯเเละต่างจังหวัด เจตนารมณ์ของกฏหมายฉบับนี้ ก็เพื่อปกป้อง คุ้มครองสิทธิของทุกคน เจ้าหน้าที่รัฐที่ละเมิดหรือทุจริต จะมีความผิดเเละได้รับโทษทางอาญาทั้งปรับเเละจำคุก



พ.ร.บ.ป้องกันเเละปราบปรามการทรมาน เเละการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 เเละให้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 120 วันไปเเล้ว นั่นหมายว่าตั้งเเต่หลังเที่ยงคืนของวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 กฏหมายฉบับนี้ จะเริ่มบังคับใช้



สำนักงานอัยการสูงสุดเเละกรมการปกครอง เป็นหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบโดยตรงตามพ.ร.บ.ฉบับนี้  โดยจัดตั้งศูนย์รับเเจ้งฯ ทั้งในกรุงเทพเเละต่างจังหวัด พ.ร.บ.ป้องกันทรมานเเละอุ้มหาย ระบุสาระสำคัญหลายมาตรา จุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิประชาชน จากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ฐานความผิดที่สำคัญ ยกตัวอย่าง 3 มาตรา



1.ความผิดฐานกระทำทรมาน ตามมาตรา 5 กำหนดว่าผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการด้วยประการใดให้ผู้อื่นเจ็บปวด หรือทุกข์ทรมานอย่างร้ายเเรง เช่น การใช้กำลังให้ได้มาซึ่งข้อมูล หรือทำให้เจ็บปวดบีบให้รับสารภาพ ถือเป็นความผิดฐานกระทำทรมาน โทษจำคุกตั้งเเต่ 15-30 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต ปรับตั้งเเต่ 3 เเสน ถึงหนึ่งล้าน



2.ความผิดฐานกระทำการโหดร้ายไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มาตรา 6 ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ลงโทษหรือกระทำการโหดร้าย ลดทอนคุณค่า หรือละเมิดสิทธิพื้นฐานความเป็นมนุษย์ให้เจ็บปวดเเละทรมาน โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



3.ความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย มาตรา 7 ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ควบคุมตัวหรือลักพาบุคคลใด โดยปฏิเสธหรือปกปิดชะตากรรม หรือสถานที่ปรากฏตัวของบุคคลนั้น มีโทษจำคุกตั้งเเต่ 15-30 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต ปรับตั้งเเต่ 3 เเสนถึง 1 ล้าน



ประชาชนที่พบเห็นการกระทำที่เข้าข่าย เเจ้งได้ที่สำนักงานอัยการ หรือที่ว่าการอำเภอทุกท้องที่ ตามมาตรา 29 โดยทุกศูนย์ของอัยการเเละฝ่ายปกครอง จะมีเจ้าหน้าที่ประจำการ ทันทีที่ได้รับเเจ้งตามระบบ จะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบมีเหตุอันควรเชื่อว่ามีการทรมานหรืออุ้มหาย ทั้งอัยการเเละฝ่ายปกครอง จะยื่นคำร้องต่อศาลเเละทำการสอบสวน



เเม้กฏหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับเเล้ว เเต่ก็มีเนื้อหาสาระสำคัญ 4 มาตรา ที่เลื่อนการบังคับใช้ออกไป ด้วยเหตุผลข้อจำกัดบางประการ หนึ่งในนั้นก็คือมาตรา 22 ที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ จะต้องบันทึกภาพเเละเสียงอย่างต่อเนื่องขณะจับเเละควบคุมตัว เเละต้องเเจ้งการจับให้พนักงานอัยการกับฝ่ายปกครองทราบ

คุณอาจสนใจ