สังคม

ชาวทะเลน้อย พัทลุง รวมตัวฟื้นฟูระบบนิเวศ หลังธรรมชาติฟ้อง ปลาท้องถิ่นเริ่มน้อย

โดย panwilai_c

18 ก.พ. 2566

110 views

พื้นที่จังหวัด "พัทลุง" เป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศและอัตลักษณ์ท้องถิ่นเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ องค์การมหาชน หรือ nia ผลักดันเข้าสู่โมเดล "เขา ป่า นา เล" โดยนำนวัตกรรมเข้ามาร่วมแก้ปัญหาปลาลูกเบร่ หรือ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่าปลาลูก "เมล่" หรือ "เบร่" ที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤต ด้วยการสร้างเส้นทางฟื้นฟูควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวตามหาปลาลูกเบร่ กับคนในชุมชน



ทีมข่าวล่องเรือสำรวจแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาลูกเบร่ หรือ ที่ชาวบ้านเรียกออกสำเนียงกันว่าลูกเบร่ ซึ่งเป็นปลาที่อาศัยเฉพาะในพื้นที่ทะเลสาบสงขลาตอนบน ติดกับทะเลน้อย ในจังหวัดพัทลุงเท่านั้น มาวันนี้ปลาลูกเบร่กำลังได้รับผลกระทบจากการจับปลาที่มากเกินไป ทำให้พวกมันเหลือประชากรอยู่น้อยเต็มที จนได้พบกับชาวประมงคนนี้ที่กำลังยกยอ หาปลาลูกเบร่โดยเฉพาะ



เธอเล่าว่า วันนี้เพิ่งได้ปลาไม่กี่ขีด โดยเป็นปลาลูกเบร่จำนวนไม่ถึง 10 ตัวด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นแบบนี้มานานในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับ 5 ปีที่แล้ว ที่จับได้วันละเป็นกอบเป็นกำ หลังปลาลูกเบร่มีมูลค่าสูงขึ้นในตลาด



เมื่อปลาลูกเบร่เริ่มลดจำนวนลง ชาวบ้านต.ลำปำจึงได้รวมตัวกันหาแนวทางอนุรักษ์ จนเกิดเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านชายคลองปากประ ร่วมกับคณะมหาวิทยาลัยทักษิณ ฟื้นฟูประชากรปลาลูกเบร่กลับมา ในปี 2564

โดยเลือกปลาลูกเบร่ มาเป็นหัวใจหลักของการส่งเสริมการอนุรักษ์ เริ่มจากการศึกษาการอพยพและขยายพันธุ์ปลา เชื่อมโยงเข้าสู่เส้นทางการท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรม อาหาร ที่มีมูลค่าทาางเศรษฐกิจสูง รวมทั้งได้สัมผัสวิถีชีวิตของคนและสัตว์ที่มีความเฉพาะตัวของระบบนิเวศตามธรรมชาติของพื้นที่พัทลุง



สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA นำหลักอนาคตศาสตร์ศึกษาข้อมูลเชิงลึกด้านนวัตกรรมของพัทลุง ตามโครงการ เขา ป่า นา เล โดยพัทลุงมีศักยภาพด้านนวัตกรรมการเกษตรที่สามารถยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวโซนเล เพื่อต่อยอดภูมิปัญญา และ อัตลักษณ์ท้องถิ่นได้ ซึ่งตอนนี้ก็มีเส้นทางท่องเที่ยวขึ้นมาแล้วผ่านแพลตฟอร์ม Local alike



ล่าสุด NIA ได้ลงนามความร่วมมือการพัฒนานวัตกรรมชุมชนร่วมกับจังหวัดพัทลุง หอการค้าจังหวัดพัทลุง และมหาวิทยาลัยทักษิณ



โดยที่นี่จะกลายเป็น 1 ใน 12 เมือง 12 ย่านนวัตกรรม ที่จะเชื่อมต่อเส้นทางถึงกันทั่วประเทศ เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ภาคชุมชนอย่างครอบคลุมในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ขณะเดียวกันนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ปรับใช้ก็จะช่วยฟื้นฟูทรัพยากรและแหล่งอาหารให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน

คุณอาจสนใจ

Related News