สังคม

ไบโอเทค คิดค้นวิธีเพาะเลี้ยงเชื้อ 'อหิวาต์หมู' ความหวังใหม่สร้างวัคซีนป้องกัน หยุดการระบาด

โดย panwilai_c

12 ก.พ. 2566

61 views

ปัจจุบันทั่วโลกยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์สุกร หรือ อหิวาต์หมูได้อย่าง 100% เนื่องจากปัญหาด้านการเพาะเลี้ยงไวรัสเพื่อการศึกษา แต่ล่าสุดศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค สวทช.ได้คิดค้นวิธีเพาะเลี้ยงไวรัสตัวนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดการเพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างวัคซีนที่เหมาะสมกับเชื้อตัวนี้ได้



ดร. อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค อธิบายความยากของการศึกษาเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟฟริกาในสุกร หรือ ASFV ที่นักวิจัยทั่วโลกกำลังคิดค้นวิธีการเก็บตัวอย่างของเชื้อมาศึกษาไว้ให้ได้นานที่สุด ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยตัวอย่างของเชื้อจากสุกรจำนวนมาก



แต่ล่าสุดไบโอเทคได้ค้นพบวิธีการเพาะเลี้ยงไวรัสอหิวาต์สุกร บนไตลิง ซึ่งพบว่าสามารถเพิ่มจำนวนอนุภาคได้ต่อเนื่อง



ทีมนักวิจัยของไบโอเทค สวทช. ได้นำตัวอย่างของไวรัส 4 ตัวอย่างจากสุกรในจังหวัดราชบุรีมาเพาะเลี้ยง โดยพบว่า จากการทดลองเพาะเลี้ยงในสัปดาห์ที่ 1 20 และ 29 แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของไวรัสได้เป็นอย่างดี ซึ่งนี่จะทำให้นักวิจัยต่อยอดการศึกษาข้อมูลของไวรัสตัวนี้ได้ดียิ่งขึ้น



โดยเฉพาะวัคซีนสำหรับป้องกันโรคอหิวาต์สุกรในไทย ที่สามารถพัฒนาได้ต่อเนื่องและเหมาะสมต่อการป้องกันไวรัสสายพันธุ์ในพื้นที่



ความสำเร็จของไบโอเทคในครั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาพัฒนาองค์ความรู้ที่ได้ไปอีกอย่างน้อย 2 ปี จนได้แนวทางการป้องกันการติดเชื้อ การทำลายเชื้อทั้งในโรงเลี้ยงและเนื้อสุกรที่แปรรูปแล้ว รวมไปถึงวัคซีนที่ผลิตโดยคนไทย



อหิวาต์สุกรกลายเป็นโรคที่ระบาดต่อเนื่องมานานกว่า 100 ปี แล้วในตอนนี้ โดยเป็นโรคที่ติดเชื้อไวรัสเฉพาะสุกรเท่านั้น สามารถติดต่อได้ทางการกิน หายใจ หรือทางบาดแผล รวมถึงถูกเห็บอ่อนซึ่งเป็นพาหะนำโรคกัด แม้กระทั่งการสัมผัสทางอ้อมจากสถานที่เลี้ยง



จนถึงขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนที่พิสูจน์ได้ว่ามีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อการป้องกันและควบคุมโรค สุกรที่หายป่วยจะเป็นพาหะของโรคได้ตลอดชีวิต และตัวอื่นๆ ก็มีสิทธิตายฉับพลันได้ ส่วนเนื้อที่ปนเปื้อนก็ไม่สามารถส่งไปยังประเทศปลายทางได้ สร้างความเสียหายให้กับผู้เลี้ยงสุกร



นี่จึงเป็นความหวัง ซึ่งจะส่งผลดีโดยตรงกับภาคการเกษตรและการส่งออกไทยที่กำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของอหิวาต์สุกรอย่างหนักตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

คุณอาจสนใจ