สังคม

กทม.วิกฤตหนัก PM2.5 พุ่งสูงจนติดอันดับโลก แนะปชช.สวมแมสก์ คาดอากาศจะดีขึ้น 5 ก.พ.นี้

โดย chiwatthanai_t

2 ก.พ. 2566

44 views

ตลอดทั้งวันนี้ ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 ทุกพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร สูงเกินมาตรฐานทุกเขต และส่วนใหญ่ถึงขั้นวิกฤติหนัก อยู่ในระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ จนติดอันดับโลกของประเทศที่มีมลพิษทางอากาศแย่ กรมควบคุมมลพิษออกประกาศเตือนให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา โดยคาดว่าสภาพอากาศจะเริ่มดีขึ้นในวันที่ 5 กุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป


สภาพท้องฟ้าตลอดทั้งวันของกรุงเทพมหานครในวันนี้(2 ก.พ. 66) เต็มไปด้วยฝุ่นบะอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 จนค่าฝุ่น สูงเกินมาตรฐานทุกพื้นที่


ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในระดับสีแดงมากกว่า สีส้ม ถือว่า กระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกมเสี่ยงทั้งเด็กเล็ก ผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ สำนักสิ่งแวดล้อมกทม.สรุปค่าฝุ่นPM 2.5 เมื่อเวลา 4 โมงเย็นที่ผ่านมาสูงสุดอยู่ที่เขตประเวศ 132 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร


ขณะที่ในแอปพลิเคชัน IQAir พบว่า กทม.ติดอันดับที่ 10 ของเมืองที่มลพิษทางอากาศยอดแย่ที่สุดในโลก โดยมีค่า ดัชนีคุณภาพอากาศ หรือ AQI 157 ส่วน อันดับ 1 เมือง ฉงชิ่ง ของจีน เช่นเดียวกับจังหวัดเชียงใหม่ ที่ขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 12 ของโลก ค่าฝุ่น AQI อยู่ที่ 153


ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ แถลง ยกระดับมาตรฐานคุมเข้มค่าฝุ่น PM 2.5 ขณะนี้ความรุนแรงของฝุ่นอยู่ในระดับ 3 แต่ยังไม่ถึงระดับ 4 ที่ถึงขั้นต้องปิดโรงเรียน โดยในส่วนของหน่วยงานรัฐและเอกชน ได้ขอความร่วมมือให้ปรับใช้มาตรการ Work From Home ระหว่างวันที่ 2-3 กุมภาพันธ์นี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่สภาพอากาศปิด และ มีปริมาณฝุ่นสูง เบื้องต้นคาดว่าสภาพอากาศจะดีขึ้นภายในวันที่ 5 กุมภาพันธ์นี้ และกลับเข้าสู่ภาวะปกติในวันที่ 7 กุมภาพันธ์


นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นเป็นวาระแห่งชาติ โดยกทม.มีแผนดำเนินการตามหลักการ เมื่อปริมาณฝุ่นเกิน 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ต่อเนื่องกัน 3 วัน นั่นคือการประกาศ Work From Home ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนดีงกล่าวแล้ว โดยแนะนำ ให้ประชาชนลดกิจกรรมกลางแจ้ง ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา หากต้องออกนอกพื้นที่กลางแจ้ง รวมทั้งช่วงนี้ กทม.จะออกตรวจพื้นที่ตลอด เพื่อลดปัญหาการเผาชีวมวลในพื้นที่


ด้าน GISTDA ได้เปิดเผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) หลังไทยพบจุดความร้อนเมื่อวานนี้ จำนวน 1,208 จุด ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างราชอาณาจักรกัมพูชาพบจุดความร้อน จำนวน 1,713 จุด ตามด้วยสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา 1,072 จุด สปป.ลาว 927 จุด เวียดนาม 522 จุด และมาเลเซีย 4 จุด


สำหรับจุดความร้อนในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่เกษตร 294 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 293 จุด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 273 จุด พื้นที่เขต สปก. 204 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่นๆ 127 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 17 จุด


โดยจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด คือ ชัยภูมิ 133 จุด กาญจนบุรี 128 จุด และลพบุรี 50 จุด จากภาพแสดงให้เห็นว่าจุดความร้อนยังคงกระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ ยกเว้นทางใต้ ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจากการเตรียมพื้นที่เพื่อการเกษตร หรือการเข้าไปหาของป่า


สำหรับภาพรวมจากการรวบรวมข้อมูลจุดความร้อนตั้งแต่ 1 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2566 พบว่า ภาคเหนือมีจุดความร้อนแล้วจำนวน 6,076 จุด ตามด้วยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3,800 จุด และภาคตะวันออก 1,105 จุด ตามลำดับ

คุณอาจสนใจ