สังคม
เปิดตัว 'รถไฟฟ้าระบบรางจากวัสดุผสมเส้นใยธรรมชาติ' ลดการใช้พลังงาน-ประหยัดต้นทุน
โดย panisa_p
17 ธ.ค. 2565
1.4K views
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้คิดค้นรถไฟฟ้าระบบรางฝีมือคนไทยโดยใช้วัสดุผสมเส้นใยจากธรรมชาติมาประกอบเป็นตัวรถ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากงานวิจัยเดิมสู่การสร้างรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติไร้คนขับ ที่มีน้ำหนักเบา ลดการใช้พลังงาน และที่สำคัญรถรางคันนี้พร้อมแล้วที่จะนำมาใช้ได้จริง โดยมีต้นทุนเพียง 9 ล้านบาทถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศที่มีมูลค่าถึงกว่าหลักร้อยล้านบาท
ภาพโมเดลจำลองการใช้งานของรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติไร้คนขับ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ หรือ มจพ. ถูกออกแบบขึ้นเพื่อนำเสนอความเป็นไปได้ของการนำมาปรับใช้จริงในอนาคต ซึ่งแนวคิดของรถไฟฟ้าระบบรางคันนี้ คือ การนำงานวิจัยของคณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัยมาประยุกต์ร่วมกัน ทั้งภาควิศกรรม สถาปัตยกรรม และ เทคโนโลยีอุตสาหกรรม โดยใช้เวลาพัฒนาเพียง 1 ปีเท่านั้น
รถรางอัตโนมัติ APM เป็นรถไฟฟ้าล้อยางที่วิ่งบนพื้นคอนกรีต โดยมีรางเหล็กช่วยนำทางและบังคับการเคลื่อนที่ ซึ่งส่วนประกอบของรถคันนี้ส่วนใหญ่
ทำจากวัสผสมเส้นใยธรรมชาติ เช่น ที่จับจากวัสดุผสมเส้นใยมะพร้าว และ ที่นั่งจากวัสดุผสมเส้นใยกัญชง บรรทุกผู้โดยสารได้สูงสุด 30 โดยโมเดลแรกนี้ทำความเร็วได้สูงสุด 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วิ่งได้ระยะทาง 30 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ทำงานด้วยระบบซอร์ฟแวร์ควบคุมการทำงานของรถอัตโนมัติ และ จำลองการเดินรถ ตามหลักการทำงานของรถรางแบบไร้คนขับ ที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นเอง
โครงการนี้ของ มจพ. ได้รับเงินสนับสนุนจากโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยปี 2564 จากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. เพื่อต่อยอดงานวิจัย
ซึ่งอธิการบดี มจพ. ระบุว่า รถไฟฟ้าระบบราง APM ที่เปิดตัวครั้งนี้อยู่ในระยะแรกของโครงการ โดยทางมหาวิทยาลัยเตรียมนำไปขยายผลต่อในระยะที่ 2 ที่มจพ.วิทยาเขตปราจีนบุรี ในปี 2566 นี้ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ปัจจุบันไทยมีตัวอย่างของรถ APM ใช้งานแล้วที่สนามบินสุวรรณภูมิ และ รถไฟฟ้าสายสีทอง ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้าจากต่างประเทศเกือบ 250 ล้านบาท ขณะที่รถไฟฟ้าระบบรางคันนี้ใช้ทุนพัฒนาเพียง 9 ล้านบาท โดยในอนาคตหากโครงการนี้สำเร็จ 100 เปอร์เซ็นต์นั่นก็จะทำให้ไทยสามารถหันมาใช้รถไฟฟ้าระบบรางฝีมือคนไทย ที่จะช่วยประหยัดงบประมาณในจำนวนนี้ไปได้มากถึงหลักร้อยล้านบาทเลยทีเดียว