สังคม

กรมสุขภาพจิตจับมือภาคเอกชน ชวนคนไทยรู้เท่าทันภัยไซเบอร์ หวังลดอัตราการฆ่าตัวตาย

โดย panisa_p

1 พ.ย. 2565

71 views

เนื่องในสัปดาห์สุขภาพจิตโลก ปี 2565 กรมสุขภาพจิต ได้เปิดเผยข้อมูลสำคัญถึงอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นของกลุ่มผู้มีอายุน้อย ที่เพิ่มมากกว่ากลุ่มวัยทำงานถึงกว่า 4 เท่า โดยส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากสังคมและภัยบนสื่อสังคมออนไลน์ ทางกรมจึงหาแนวทางการทำความเข้าใจและเพิ่มช่องทางการเข้าถึงระบบการรักษาสุขภาพจิตให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้นผ่านความร่วมมือกับภาคเอกชน จัดทำแบบทดสอบและการให้ความรู้ต่อเนื่องในหัวข้อ มีความรู้ก็อยู่รอด


นิทรรศการทำไมต้องรู้ก่อนตาย จัดขึ้นโดยเอไอเอสอุ่นใจไซเบอร์ สะท้อนปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจนทำให้หลายชีวิตมีจุดจบที่ไม่สวยนัก ทั้งปัญหาการใช้สื่อสังคมออนไลน์มากจนเป็นภัยจากมิจฉาชีพ การถูกบูลลี่ และ ภัยที่เกิดขึ้นบ่อยอย่างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่หลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินจนหมดตัว ซึ่งสาเหตุเหล่านี้นำมาสู่โรคเครียด ภาวะซึมเศร้าและนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้


ภาพยนตร์สั้นของ AIS อุ่นใจไซเบอร์ภายใต้แนวคิด มีความรู้ก็อยู่รอด ได้บอกเล่าเรื่องราวผ่านตัวละครหลัก 3 ตัว ที่สะท้อนปัญหาชีวิตของแต่ละคน ที่มีสาเหตุหลักมาจากภัยบนโลกออนไลน์ โดยสอดแทรกความรู้เข้าไปเพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของภัยเหล่านี้


พลตำรวจตรีนิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บังคับการ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ข้อมูลการรับแจ้งความออนไลน์ผ่านไทยโพลิสออนไลน์ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา กว่า 127,000 เรื่อง พบว่ากว่า 113,461 เรื่องเป็นคดีออนไลน์ โดย 3 อันดับแรก คือ การหลอกซื้อของออนไลน์ การหลอกให้กลัวแล้วโอนเงิน หรือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และ หลอกลวงเงินในรูปแบบต่างๆ มีความเสียหายรวมกันในหลัก 2 หมื่นล้านบาท


ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ระบุว่า ในปี 2564 คนไทยมีอัตราเครียดสูงจากสภาพสังคมและปัญหาเศรษฐกิจ จนนำไปสู่การฆ่าตัวตายสำเร็จ เฉลี่ยเกือบ 8 คน ต่อประชากร 1 แสนคน หรือ คิดเป็นกว่า 5,000 คน โดยช่วงปี 2560-2564 พบคนในวัย 15-34 ปี ฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าวัยทำงานที่อายุ 34 ปีขึ้นไปถึง 4 เท่า โดยเฉพาะช่วงอายุ 15-24 ปี ที่ 2 ปี รวมกันเกือบ 900 คน ขณะที่กลุ่มอายุ 15-34 ปี ช่วงปี 2564 มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ 956 คน มากกว่าปี 2563 ถึง 896 คน


แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า ในช่วง 6 เดือน - 2 ปี หลังเหตุการณ์วิกฤต เช่น โควิด 19 อัตราการฆ่าตัวตายมักไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับภัยจากมิจฉาชีพ ข่าวที่รุนแรง ก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของประชาชนมากขึ้น


ภาพยนตร์สั้นตัวนี้จึงสอดแทรกทั้งความรู้และแบบทดสอบให้ผู้ที่สนใจเข้าไปศึกษาข้อมูลในหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อภัยร้ายในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งอาจนำผลกระทบต่างๆ ตามมาจนเป็นผลเสียต่อร่างกายและจิตใจ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปเรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ หรือ แอปพลิเคชันอุ่นใจไซเบอร์ได้ทันที

คุณอาจสนใจ

Related News