สังคม

ไทยอันดับ 26 รับมือโควิดได้ดี อย.พิจารณาฉีดวัคซีนในเด็ก 3 ขวบขึ้นไป

โดย pattraporn_a

1 ก.พ. 2565

15 views

นายกรัฐมนตรีแสดงความพอใจ หลังไทยได้รับการจัดอันดับการรับมือกับสถานการณ์โควิด 19 ได้ดี เป็นอันดับที่ 26 ของโลก ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเตรียมพิจารณาอนุมัติการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ในเด็กอายุ 3 ปีขึ้นไป ล่าสุดศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อเตรียมเปิดให้ประชาชนเลือกวิธีการฉีดวัคซีนที่ศูนย์ได้ตามความต้องการโดยขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์


ศบค.รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในวันนี้ 7,422 คน รวมสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 224,529 คน หายป่วย รักษาตัวอยู่ 83,014 คน แบ่งเป็นอาการหนัก 557 คน ใช้เครื่องช่วยหายใจ 107 คน เสียชีวิตเพิ่ม 12 คน รวมสะสม 487 คน


ล่าสุดสำนักข่าวบลูมเบิร์กได้จัดอันดับ The Covid Resilience Ranking ให้ประเทศไทยรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีที่สุดเป็นอันดับที่ 26 จาก 53 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ หลังจากที่เคยอยู่อันดับ 51 เมื่อเดือน ตุลาคม ปี 2021


นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พอใจที่ประเทศไทยรับมือการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้ดีขึ้น


โดยการตัดสินจะพิจารณาจาก 12 ปัจจัย ใน 3 หมวดหลัก คือ กระบวนการเปิดประเทศ เช่น สัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีน จำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง สถานการณ์โควิด-19 สัดส่วนผู้ป่วยต่อประชากร 100,000 คน และสัดส่วนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 รวมไปถึงคุณภาพชีวิตประชาชน ทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ ระบบสาธารณสุข และดัชนีการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ เป็นต้น


ซึ่งสำนักข่าวบลูมเบิร์กยังระบุว่า ประเทศไทยทำได้ดีในเรื่องสัดส่วนการฉีดวัคซีนของประชากร จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น



ล่าสุดศูนย์ฉีควัคซีนโควิด-19 สถานีกลางบางซื่อ ได้เปิดให้ประชาชนเลือกฉีดวัคซีนไฟเซอร์กระตุ้นเข็มที่ 3 และ 4 ได้ตามความสมัครใจ ทั้งแบบเข้าฉีดกล้ามเนื้อและชั้นผิวหนัง โดยสามารถเลือกปริมาณขนาดยาได้ คือ แบบปกติเต็มโดส 0.3 มิลลิลิตร หรือเลือกฉีดเข้ากล้ามเนื้อปริมาณครึ่งโดส 0.15 มิลลิลิตร  หรือฉีดเข้าชั้นผิวหนัง 0.1 มิลลิลิตร


แพทย์หญิง มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ระบุ ขอให้เป็นไปตามความสมัครใจและอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ พร้อมชี้แจงว่า ไม่ใช่เป็นเพราะปริมาณวัคซีนไม่เพียงพอ แต่เป็นทางเลือกตามมติของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ที่มีการศึกษาแล้วให้ประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน


ขณะนี้ทางศูนย์ฯ เตรียมเปิดให้ลงทะเบียนฉีดวัคซีน ผ่าน 4 ค่ายมือถือสำหรับกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ นี้ และจะเริ่มฉีดในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ คาดว่าจะมีผู้เข้ารับวัคซีนประมาณ 6-7 ล้านคน


ขณะที่ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เตรียมพิจารณาข้อมูลประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนชนิดเชื้อตายซิโนแวคและซิโนฟาร์มที่ทางองค์การเภสัชกรรมและบริษัทผู้นำเข้าได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนการอนุญาตใช้วัคซีนทั้งสองชนิดในกลุ่ม เด็กตั้งแต่สามปีขึ้นไป ซึ่งจะพิจารณาแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ก่อนจะเริ่มฉีดให้เด็กได้


ด้าน นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ข้อมูลการศึกษาที่ทาง อย. ได้รับจากผู้ข้ออนุญาติเป็น ผลการศึกษาทางคลินิกที่มีการใช้วัคซีนในกลุ่มผู้ทดลองหลาย 1,000 คนในประเทศ ซิลี ซึ่งเป็นข้อมูลชุดสุดท้ายของพิจารณา โดยในช่วงสัปดาห์นี้ทางคณะกรรมการและผู้เชี่ยวชาญจะร่วมกันพิจารณาข้อมูลก่อนจะอนุญาตขึ้นทะเบียนการใช้วัคซีนซิโนแวคและวัคซีน ซิโนฟาร์มในกลุ่มผู้ใช้ตั้งแต่สามปีขึ้นไป


สำหรับสูตรจะเป็นแบบเดียวกับที่เคยใช้กับการฉีดในผู้ใหญ่ ซึ่งหลังผ่านขั้นตอนการอนุญาตขอขึ้นทะเบียนจาก อย. แล้วทางกรมควบคุมโรคจะเป็นผู้กำหนดแผนการฉีดซึ่งจะสามารถใช้วัคซีนซิโนแวคที่มีอยู่แล้วได้เลย


ส่วนความคืบหน้าการศึกษาโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย หรือ BA.2 ล่าสุดในเดนมาร์ก พบว่า สายพันธุ์ Ba.2 หรือสายพันธุ์ล่องหน สามารถแพร่ได้ไวมากกว่าสายพันธุ์เดิม BA.1 และหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนได้ดีขึ้น


งานวิจัยฉบับนี้จัดทำขึ้นโดย นักวิจัยจากสถาบันสแตเทนส์ เซรุม หรือ SSI มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนสำนักงานสถิติแห่งเดนมาร์ก และมหาวิทยาลัยเทคนิคแห่งเดนมาร์ก ได้วิเคราะห์การติดเชื้อโควิด-19 ในประชากรชาวเดนมาร์กมากกว่า 8,500 ครัวเรือน ระหว่างเดือนธันวาคมและมกราคม โดยพบว่าผู้ที่ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย หรือ BA.2 มีโอกาสแพร่กระจายเชื้อให้กับผู้อื่นได้มากขึ้นถึง 33% เมื่อเทียบกับผู้ติดเชื้อ BA.1


แม้ว่าในปัจจุบัน ทั่วโลกจะพบการแพร่ระบาดของเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม คือ BA.1 มากกว่า 98% แต่สายพันธุ์ย่อยตัวนี้ได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดในเดนมาร์กอย่างรวดเร็ว แซงหน้า BA.1 ไปแล้วในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคม


ทีมนักวิจัยจึงได้ทำการสรุปว่าโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 สามารถแพร่เชื้อได้ดีกว่า BA.1 และยังมีความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนได้ดีมากขึ้น


แม้ว่างานวิจัยฉบับนี้ยังไม่ได้รับการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ แต่ทางด้านนักวิจัยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ถ้าหากสัมผัสกับผู้ติดเชื้อโอมิครอน BA.2 ภายในครอบครัวตัวเอง พวกเขามีโอกาสที่จะติดเชื้อ 39% ภายในระยะเวลา 7 วัน ในขณะที่ BA.1 มีโอกาสอยู่ที่ 29%


ปัจจุบัน มีหลายประเทศแล้วที่มีการแพร่ระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 เช่น สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, สวีเดน, และนอร์เวย์ แต่ยังคงมีจำนวนน้อยกว่าในเดนมาร์ก ที่ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อแล้วประมาณ 82%


ทั้งนี้ รายงานระบุว่า แม้เชื้อ BA.2 จะสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ดีกว่า BA.1 แต่การศึกษาก็ย้ำว่าวัคซีนยังคงมีบทบาทที่สำคัญ เพราะเมื่อเทียบกับคนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว อัตราการติดเชื้อยังถือว่าน้อยกว่า

คุณอาจสนใจ

Related News