สังคม

ปศุสัตว์ เข้มสั่งด่านกักกันสัตว์ ควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ หวัง ASF สงบโดยเร็ว

โดย pattraporn_a

17 ม.ค. 2565

31 views

นายกรัฐมนตรี ออกมาพูดเรื่องปัญหาหมูแพงด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก โดยระบุว่า ให้ตรวจสอบว่า หมูแพง มีใครไปทำให้แพงหรือไม่ พร้อมสั่งให้เร่งแก้ปัญหาการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกา ไม่ให้ขยายวงกว้าง


พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีปัญหาราคาสินค้าที่พุ่งสูง โดยเฉพาะเนื้อหมูว่า ต้องไปดูต้นตอของปัญหา โดยให้สำรวจตั้งแต่ต้นทาง ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน ปริมาณเพียงพอหรือไม่ เมื่อไม่เพียงพอก็ต้องไปจัดหา ตัวอย่างการแก้ไขปัญหาหมู จะต้องงดส่งออก และนำเข้าเนื้อหมู รวมไปถึงเร่งผลิตลูกหมูเข้าสู่ระบบ ส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย รวมไปถึงสำรวจหมูแช่แข็งในสต๊อก เพื่อให้ปริมาณเนื้อหมูเพียงพอบริโภคในประเทศ


พร้อมกับย้ำว่าเมื่อหมูตาย ก็ต้องเพาะพันธุ์ลูกหมูใหม่ขึ้นมา ซึ่งการแพร่ระบาดของโรค เป็นการแพร่ระบาดในบางจุดไม่ใช่ทั่วประเทศ และที่หมูตายมีเพียงร้อยละ 20 ซึ่งก็ต้องไปตามหาสาเหตุของหมูที่ขาดตลาดว่าเกิดอะไรขึ้นในกระบวนการ ทำให้สินค้าหลายชนิดมีความพยายามขึ้นราคาสินค้าตามมาโดยไม่มีเหตุผล ซึ่งเรื่องนี้ตนสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบ


ส่วนสาเหตุหนึ่ง ที่ถูกระบุว่า เป็นปัจจัยทำให้หมูแพง คือปัญหาการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF วันนี้ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ได้ เรียกประชุมด่วนเจ้าหน้าที่สารวัตรและด่านกักกันสัตว์ทั่วประเทศ เพื่อมอบนโยบาย สั่งการในการควบคุมและป้องกันโรค ASF ให้สงบโดยเร็วตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการ


ทั้งนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ระบุว่า แม้โรค ASF ในสุกรจะยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันแต่กรมปศุสัตว์ จะให้ความสำคัญกับการยกระดับ ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ และเรื่องของการควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศอย่างเข้มข้น และจะดำเนินการจนกว่าโรคจะสงบ เพื่อคืนสถานภาพปลอดโรค ASF ให้เร็วที่สุด


ทางด้าน นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในระหว่างลงพื้นที่ เพื่อติดตามการควบคุมและเฝ้าระวังสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่ จังหวัดนครปฐมว่า มีประเด็นความเข้าใจผิดของเกษตรกรที่นำซากสุกรที่เป็นโรคตายไปทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ


โดยได้เน้นย้ำบูรณาการการทำงานร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเร่งสร้างความเข้าใจต่อเกษตรกร ไม่ให้นำซากสัตว์ที่ตายด้วยโรคดังกล่าวไปทำปุ๋ยและน้ำหมักชีวภาพ เพื่อควบคุมและป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายออกไปเป็นวงกว้าง โดยย้ำให้ปฏิบัติตามขั้นตอนการปฏิบัติและระเบียบ ข้อห้ามตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ และพ.ร.บ.ปุ๋ย รวมถึงมาตรฐานขององค์การสุขภาพสัตว์โลก

คุณอาจสนใจ

Related News