สังคม

ปศุสัตว์ สั่งเอาผิดผู้เกี่ยวข้องวางยาแมว 'เเม่หยัว' ฐานทารุณกรรมสัตว์ หลังเจ้าของรับฉีดยาโดยไม่มีใบวิชาชีพ

โดย panwilai_c

19 พ.ย. 2567

23 views

ความคืบหน้า กรณีที่ภาคประชาสังคมวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถามไปถึงผู้จัดละครเเละผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง กับฉากวางยาเเมวดำในละครเรื่อง "เเม่หยัว" ล่าสุด กรมปศุสัตว์​ได้ออกแถลงผลการสอบสวน ยืนยันว่า เเมวที่ที่ปรากฏในละครกับตัวที่เอามายืนยัน "เป็นตัวเดียวกัน" ส่วนลักษณะอาการที่เห็นละคร เจ้าของยอมรับ เป็นผู้ฉีดยาระงับประสาทให้แมว จึงสั่งให้ดำเนินคดี เจ้าของแมวและผู้เกี่ยวข้องร่วมกระทำผิด ฐานทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร



ข้อความจากข่าวประชาสัมพันธ์กรมปศุสัตว์ มีความยาวหนึ่งหน้ากระดาษ รายงานความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีฉากวางยาเเมวดำในละคร"เเม่หยัว" โดยนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ นำมาเเจกให้กับข่าว พร้อมกับภาพขณะทีมผู้บริหาร ผู้กำกับละคร เเละเจ้าของแมว นำแมวเข้าชี้แจงข้อเท็จจริง พร้อมตรวจร่างกาย เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมพระพิรุณ ตึกอำนวยการ กรมปศุสัตว์



จากการตรวจสอบคุณลักษณะของแมวที่นำมา ด้วยเทคนิค AI และ Deep Learning พบว่า ลักษณะโครงหน้ารูปร่าง ขา ความสูง หรืออัตลักษณ์ต่าง ๆ ที่มีข้อมูลเทียบเคียงกันในแต่ละเฟรมหรือแต่ละรูป เหมือนกันถึง 80% จึงน่าเชื่อได้ว่า แมวที่นำมาให้สัตวแพทย์ตรวจร่างกาย มีแนวโน้มที่จะเป็นตัวเดียวกับแมวที่แสดงในละคร



ส่วนผลการตรวจร่างกาย พบว่า แมวมีสุขภาพปกติ ทั้งการตรวจด้วยรังสีเอกซ์ ไม่พบความผิดปกติของอวัยวะภายในช่องอกและช่องท้อง การตรวจผิวหนัง ไม่พบบาดแผลใด ๆ ผลการการตรวจโลหิต ไม่พบความผิดปกติของเม็ดเลือด และการทำงานของตับและไต



สำหรับการสอบข้อเท็จจริง​ พบว่าเจ้าของแมว ซึ่งเป็นผู้รับจ้างจัดหาแมวที่มาแสดงในฉาก แมวสีดำแสดงอาการเหมือนถูกวางยาพิษในละครเเม่หยัว เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 ที่ เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ โดยเจ้าของเเมวได้ให้ถ้อยคำว่า "ตนไม่มีใบประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ แต่มีประสบการณ์การเลี้ยงสัตว์มานาน เป็นผู้ฉีดยาระงับประสาท ชนิดเดียวกับที่สัตวแพทย์ใช้สำหรับการเตรียมตัวสัตว์ ก่อนการวางยาสลบสัตว์ให้แก่แมวด้วยตนเอง โดยได้รับค่าจ้างจากทีมงานละคร"



ทั้งนี้​ กรมปศุสัตว์ จะมอบหมายให้กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ ในฐานะเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษ เพื่อดำเนินคดีกับ เจ้าของแมว และผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ฐานกระทำการทารุณกรรมสัตว์ โดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามมาตรา 20​ และไม่ดำเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่สัตว์ของตนอย่างเหมาะสม ตามมาตรา 22 ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจท้องที่ ที่พบกระทำความผิดดังกล่าวต่อไป



ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้สอบถามประเด็นนี้เติมกับ นายสัตวแพทย์ชัยวลัญช์ ตุนาค ผู้อำนวยกองสวัสดิภาพสัตว์ฯ ยืนยันว่า ภายในสัปดาห์นี้จะไปแจ้งความดำเนินคดีที่สภ.บางปู เพราะจุดถ่ายทำอยู่ที่เมืองโบราณ ส่วนที่ออกเอกสารระบุว่า จะดำเนินคดีกับเจ้าของแมว และผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ผอ.ชัยวลัญช์ ระบุว่า ให้เป็นดุลยพินิจของตำรวจ



เจ้าของแมวชี้เเจงว่าเป็นโมเดลลิ้งสัตว์มานานแล้ว เลี้ยงสัตว์ไว้เยอะมากเพื่อใช้ในการแสดง มีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้ และยอมรับว่าเป็นคนฉีดยาเอง ส่วนประเด็นว่า ยาที่ฉีดไม่ได้หาซื้อได้โดยทั่วไปหรือไม่ ผอ.ชัยวลัญช์ บอกว่า ยาไม่สามารถหาซื้อได้โดยทั่วไป แต่ขอให้เป็นหน้าที่ของตำรวจในการสืบสวนขยายผล ว่า ซื้อยามาจากที่ไหน



เมื่อถามถึงผู้กำกับละคร รู้เห็นหรือรับทราบเรื่องฉีดยาเเมวหรือไม่ ผอ.ชัยวลัญช์ บอกว่า ทางผู้กำกับชี้แจงในส่วนของการกำกับการแสดง เเละบอกว่า เขาแค่อยากได้ภาพแมวที่สลบหลังกินยา



ด้าน คุณสบันงา นนธะระ หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย มูลนิธิวอชด็อกไทยแลนด์ ให้สัมภาษณ์ระบุว่า ยังติตดามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ทราบว่ากรมปศุสัตว์ สั่งดำเนินคดีตามมาตรา 20 และมาตรา 22 แต่ทางมูลนิธิวอชด็อก มองว่า เรื่องนี้น่าจะเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.วิชาชีพการสัตวแพทย์ ในมาตรา 29 ด้วย หลังจากนี้จะรอดูว่า ทางกรมปศุสัตว์จะไปแจ้ง-ด้วยหรือไม่ หากไม่แจ้ง ทางมูลนิธิวอชด็อกจะดำเนินการเอง



ส่วนการจะแจ้งความเอาผิดใคร ทางมูลนิธิวอชด็อก มองว่า นอกจากเจ้าของแมว ที่เป็นโมเดลลิ้งแล้ว ควรเอาผิดกองถ่ายละครด้วย (หมายถึงผู้กำกับ) เพราะ เชื่อว่ามีเจตนาวางยาสลบแมว โดยไม่ได้ให้แมวอดอาหาร เพราะในละครต้องการฉาก ขย้อนอาหาร-อาเจียนให้สมจริง จึงเป็นเจตนาทารุณกรรมสัตว์ร่วมกัน



คุณสบันงา ยังพูดถึงคำชี้แจงของเจ้าของแมว โดยมองว่า เป็นการยอมรับสารภาพแล้วว่า ตัวเองไม่ใช่สัตวแพทย์ แต่เป็นคนวางยาแมวเอง ซึ่งถือว่าอันตรายมาก เพราะตามกฎหมาย ระบุชัดว่า การวางยาสลบแมวต้องทำโดยสัตวแพทย์เท่านั้น



สำหรับมาตรา 29 ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพการสัตวแพทย์ ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ หรือแสดงด้วยวิธีใด ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่า ตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพดังกล่าว ซึ่งโทษของมาตรานี้ คือ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



ทีมข่าวตรวจสอบเพิ่มเติมเรื่องการดำเนินคดีจาก พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า การจะดำเนินการกับผู้ใดบ้างนั้น นอกเหนือจากเจ้าของแมว ก็จะขึ้นอยู่กับผู้กล่าวหา



-แต่ถ้าเริ่มมาแจ้งความแล้ว ตามขั้นตอนก็จะมีการรวบรวมพยานหลักฐาน มีการสอบปากคำ เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงว่าในส่วนนี้มีใครเข้าไปอยู่ตรงนั้น และรู้เรื่องอย่างไร มีการสั่งอย่างไร มีการจ้างอย่างไร หรือมีใครเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย และใครมีอำนาจหน้าที่ตรงนั้น ก่อนที่จะพิจารณาว่าความผิดทั้งหมด จะมีใครที่เกี่ยวข้องด้วยหรือไม่



ยืนยันว่าถ้ามาแจ้ง ก็รวบรวมพยานหลักฐาน และสืบสวนสอบสวนในสิ่งที่เกิดขึ้นให้ชัดเจน ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

คุณอาจสนใจ

Related News