สังคม

ประเด็นข่าวรอบวัน 29 ธ.ค.2564 - ญี่ปุ่นเตรียมปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ลงทะเลในปี 2566

โดย pattraporn_a

29 ธ.ค. 2564

34 views

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ช่วยรักษาช้างป่าที่บาดเจ็บจากการต่อสู้

เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เข้าช่วยเหลือช้างพลายงาอ้วนเล็กที่มีแผลบาดเจ็บจากการต่อสู้กับช้างพลายโยโย่ โดยเจ้าหน้าที่แกะรอยจนพบพลายงาอ้วนเล็กอยู่ใกล้กับบริเวณโป่งต้นไทร


จากการเข้าตรวจสอบพลายงาอ้วนเล็ก หลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้ยิงยาซึมและช้างอยู่ในอาการสงบแล้ว พบว่าบริเวณหางถูกทำร้ายจนเกือบขาด แผลเริ่มเน่าเปื่อย ตามลำตัวพบว่ามีร่องรอยถูกงาแทง จำนวน 6 รู จึงได้ดำเนินการรักษาโดยการฉีดยาปฏิชีวนะ ยาลดปวดแก้อักเสบ และยาอื่นๆที่จำเป็น


หลังจากนั้นจะได้เฝ้าติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งแผลหายสนิทต่อไป นายอดิศักดิ์ ภูสิทธิ์วงศานุยุต หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ระบุว่าในช่วงฤดูหนาวของทุกปี จะเป็นช่วงที่ช้างป่าบนเขาใหญ่มีวงรอบออกมาหากินใกล้กับบริเวณโซนบริการ ซึ่งได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าระวังผลักดันช้างป่า เพื่อไม่ให้มาทำร้ายนักท่องเที่ยว และได้กำหนดเวลาเปิดปิดด่านเวลาหกโมงเช้าและหกโมงเย็น เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวและสัตว์ป่าบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่


รถบรรทุกหยุดวิ่ง 2 แสนคัน ประท้วงน้ำมันแพง

ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วันนี้ (29 ธันวาคม)เป็นวันแรกที่กลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุกได้ทำการหยุดเดินรถเพิ่มอีก 30% เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลลงมาดูแลราคาน้ำมันอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นการหยุดเพิ่มจากของเดิมที่หยุดเดินรถอยู่แล้ว 20% รวมเป็นการหยุดเดินรถ 50% ของจำนวนรถบรรทุกทั้งหมด โดยยอมรับว่า ส่วนหนึ่งเป็นการหยุดเดินรถเพื่อให้ความร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบก ในช่วงของเทศกาลปีใหม่ เพื่อคืนพื้นที่จราจรให้กับประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนา และใช้โอกาสนี้หยุดวิ่งยาวไปจนถึงวันที่ 15 มกราคม 65 จากปกติจะกลับมาวิ่งในช่วงต้นเดือนมกราคม


พร้อมยืนยัน การปรับขึ้นอัตราค่าขนส่งสินค้าจะเป็นแนวทางสุดท้ายที่จะเลือกทำ เพราะไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบกับประชาชนผู้บริโภค



ญี่ปุ่นเตรียมปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ลงทะเลในปี 2566

รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศเผนการระบายน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีปริมาณมากกว่า 1 ล้านตัน จากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่ทะเล ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ปี 2566 ท่ามกลางเสียงคัดค้านของประชาชนบางส่วน รวมถึง เพื่อนบ้านอย่างจีน และเกาหลีใต้ โดยย้ำว่า การระบายเสียจะดำเนินการตามขั้นตอน และมีการจ่ายเงินชดเชยให้กับภาคส่วนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เช่น ภาคการประมง, ท่องเที่ยว, และเกษตรกรรม

นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังจะเชิญผู้เชี่ยวชาญจากทบวงปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA เข้ามาตรวจสอบความปลอดภัยและให้คำแนะนำในปีหน้า เพื่อลดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์

ทั้งนี้ สาเหตุที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องปลอ่ยน้ำปนเปื้อนสารเคมีลงสู่ทะเล เนื่องจากพื้นที่จัดเก็บน้ำเสียในโรงไฟฟ้าเริ่มใกล้เต็มความจุแล้ว อย่างไรก็ดี น้ำเสียทั้งหมดได้ผ่านกระบวนการกรองเพื่อลดสารอันตรายลงแล้วกว่า 40%

คุณอาจสนใจ

Related News