สังคม

ผลทดสอบวัคซีน "ChulaCov19" ประสิทธิภาพเทียบเท่าไฟเซอร์ คาดเริ่มฉีดได้ เม.ย.ปีหน้า

โดย pattraporn_a

16 ส.ค. 2564

105 views

วันนี้ (16 ส.ค.) มีข่าวที่น่ายินดีของวงการวัคซีนไทย เมื่อทีมผู้วิจัยและพัฒนาวัคซีน "ChulaCov19"  ของศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดเผยข้อมูลการทดสอบวัคซีนในอาสาสมัครกลุ่มแรก พบว่ามีประสิทธิภาพเทียบเท่าวัคซีนของไฟเซอร์ และสามารถยับยั้งเชื้อไวรัสได้ถึง 4 สายพันธุ์ เตรียมทดสอบทันทีในระยะที่ 2 หากทุกอย่างเป็นไปตามเป้าก็พร้อมผลิตออกมา ฉีดให้กับคนไทยในช่วงเมษายนปีหน้านี้


จากแผนภูมิเแท่งแสดงประสิทธิภาพการยับยั้งการจับตัวของโปรตีนในส่วนหนามที่แสดงให้เห็นว่า วัคซีน "ChulaCov19" ของศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีประสิทธิภาพยับยั้งเชื้อโควิด-19 ได้ถึง 94% เทียบเท่ากับวัคซีนจากไฟเซอร์ ที่เป็นชนิด mrna เหมือนกัน มากกว่าแอสตราเซเนกา และซิโนแวค ซึ่งผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่ 68%


นอกจากนี้ผลการศึกษายังบ่งบอกถึงความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อได้ข้ามสายพันธุ์ ได้ครอบคลุมทุกชนิดในปัจจุบัน อีกทั้งผลข้างเคียงจากวัคซีนที่พบก็ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับวัคซีนชนิดอื่น เช่น อาการไข้ อ่อนเพลีย และหนาวสั่น


ทั้งหมดนี้เป็นการทดสอบในอาสาสมัครกลุ่มแรกอายุ 18-55 ปี จำนวน 36 คน และยังมีผลทดสอบในอาสาสมัครกลุ่มที่ 2 ระหว่างอายุ 56-75 ปีอีก 36 คน ซึ่งอยู่ระหว่างสังเกตผลเพิ่มเติม หลังผ่านมา 50 วัน นับตั้งแต่วันแรกที่ทดสอบเมื่อ 14 มิถุนายน


วัคซีน "ChulaCov19" เป็นวัคซีนชนิด mrna หรือ การใช้ชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของไวรัส เหมือนกับวัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอนา เบื้องต้นพบว่าสามารถอยู่ในอุณหภูมิตู้เย็น (2-8 องศาเซลเซียส) ได้นาน 3 เดือนเก็บในอุณหภูมิห้อง (25 องศาเซลเซียส) ได้นาน 2 สัปดาห์ เก็บรักษาได้ง่ายกว่าวัคซีนชนิด mRNA ยี่ห้ออื่น


คาดว่าการทดสอบในอาสาสมัครระยะ 2 จำนวน 150 คน จะเริ่มได้ประมาณ 25 สิงหาคมนี้ ส่วนระยะ 3 ยังต้องรอการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย. ซึ่งขณะนี้ทีมวิจัยได้ร่วมกับบริษัทไบโอเนท เอเชีย เป็นโรงงานผลิตวัคซีนในไทย


อย่างไรก็ตามนี่เป็นผลวิจัยในขั้นแรกของไทยที่ยังไม่ถูกตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับสากล หากวัคซีน "ChulaCov19" ผ่านการขึ้นทะเบียนรับรองในภาวะฉุกเฉินจาก อย.ได้ในต้นปีหน้านี้ ก็จะสามารถใช้ได้ทันทีภายในช่วงเดือนเมษายนปี 2565


ความสำเร็จนี้จึงขึ้นอยู่กับ 4 ปัจจัย คือ การระดมทุนจากรัฐและเอกชน , กติกาการขึ้นทะเบียนวัคซีนในภาวะฉุกเฉินที่ชัดเจนจาก อย. , โรงงานผลิต และนโยบายการจองและจัดซื้อวัคซีนของรัฐบาลต้องมีความชัดเจน ซึ่งยังเป็นคำถามจากผู้ผลิตวัคซีนไทยทั้ง 4 แห่งที่ยังไม่ได้รับความชัดเจนจากผู้มีอำนาจตัดสินใจ

คุณอาจสนใจ

Related News