พระราชสำนัก

กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงงานวิสัญญีสัตวแพทย์ รพ.สัตว์เกษตรฯ บางเขน

โดย kodchaporn_j

6 มิ.ย. 2565

11 views

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงงานวิสัญญีสัตวแพทย์ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เป็นการส่วนพระองค์



วันนี้ เวลา 08.33 น. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ ไปยังอาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา บรมราชินีนาถ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ในการทรงงานวิสัญญีสัตวแพทย์ ร่วมกับทีมสัตวแพทย์หน่วยศัลยกรรมฯ เพื่อพระราชทานความช่วยเหลือและการรักษา พร้อมทั้งทำหมันให้กับสุนัขที่เจ็บป่วยของประชาชน จำนวน 3 ตัว



โดยสุนัขตัวแรกเป็นสุนัขพันธุ์ German shephed เพศเมีย ชื่ออบเชย อายุ 5 ปี ซึ่งเป็นมะเร็งเต้านมและไส้เลื่อนที่หน้าท้อง ส่วนสุนัขตัวที่ 2 เป็นสุนัขพันธุ์ผสม เพศผู้ ชื่อวิว อายุ 14 ปี ซึ่งมีปัญหาเนื้องอกที่ถุงอัณฑะ เนื้องอกบริเวณหน้าท้องและเนื้องอกที่ริมฝีปาก และสุนัขตัวที่ 3 เป็นสุนัขพันธุ์ French bulldog เพศผู้ อายุ 5 ปี ชื่ออบเชย มีปัญหาต่อมลูกหมากอักเสบ เนื้องอกที่ถุงอัณฑะและเนื้องอกบริเวณขาหน้าขวา



ในการทรงงานวันนี้ ทรงฉีดยานำสลบและให้ยาสลบเข้าหลอดเลือด ทรงใช้ยาดมสลบ เพื่อคงภาวะการสลบ ตลอดระยะเวลาการผ่าตัด แก่สุนัขทั้ง 3 ตัว เพื่อให้สัตวแพทย์ได้ทำการรักษา ด้วยการผ่าตัดนำก้อนเนื้องอกออก พร้อมกับทรงติดตามเฝ้าระวังสัญญาณชีพของสุนัขด้วยพระองค์เองอย่างใกล้ชิด ผ่านจอมอนิเตอร์ ที่แสดงผลอัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ ความดันโลหิต รวมถึงอุณหภูมิของร่างกาย



เพื่อทรงประเมินความปลอดภัยของสุนัขระหว่างการผ่าตัดให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ภายหลังเสร็จสิ้นการผ่าตัด ทรงฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณรอบแผลผ่าตัดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระงับความเจ็บปวดให้กับสัตว์ป่วย



สำหรับ เนื้องอกเต้านมในสุนัขมักพบในสุนัขวัยชรา และพบมากในสุนัขเพศเมียที่ยังไม่ได้ทำหมัน รวมถึงพบได้ในสุนัขทุกสายพันธุ์ โดยอุบัติการณ์ของโรคเนื้องอกเต้านมในสุนัขพบว่ามีโอกาสเป็นเนื้องอกชนิดไม่รุนแรง 50 % และอีก 50% เป็นมะเร็ง ในกรณีที่เป็นมะเร็งเต้านมในสุนัขมีโอกาสแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นได้



ทั้งนี้ เนื้องอกเต้านมในสุนัข สามารถรักษาได้ด้วยการศัลยกรรม ส่วนสาเหตุของการเกิดเนื้องอกที่เต้านมยังไม่แน่ชัด แต่เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศ และยังป้องกันได้ด้วยการทำหมัน การทำหมันก่อนเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ หรือก่อนแสดงอาการเป็นสัดครั้งแรก สามารถลดโอกาสการเกิดเนื้องอกที่เต้านมให้เหลือเพียง 0.5% การทำหมันหลังการเป็นสัดครั้งแรกแต่ก่อนเป็นสัดครั้งที่ 2 ลดโอกาสการเกิดเนื้องอกเต้านมเหลือ 8% แต่ในสุนัขที่ทำหมันหลังเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว จะถือว่ามีความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกเต้านมเท่ากับสุนัขที่ยังไม่ทำหมัน