พระราชสำนัก

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทอดพระเนตรการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้

โดย pattraporn_a

19 ก.พ. 2565

68 views

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทอดพระเนตรการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ ที่จังหวัดสงขลา


วันนี้ เวลา 12 นาฬิกา 5 นาที สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ประทับเครื่องบินที่นั่ง ซึ่งกองทัพอากาศจัดถวาย เสด็จถึงยังท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา โดยมีนายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และหัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ เฝ้ารับเสด็จ ในการนี้ ทอดพระเนตรการแสดงมโนราห์ ขององค์กรเครือข่ายศูนย์ฝึกมโนราห์ ส.จอมหรำพัฒนาศิลป์ ศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เป็นการร่ายรำในท่าแม่บท 12 ท่า ที่เป็นท่ารำพื้นฐานดั้งเดิม หรือ ท่ารำแบบฉบับของมโนราห์ เพื่อเป็นการเคารพบูชา และแสดงความกตัญญู ต่อครูบาอาจารย์


เวลา 12 นาฬิกา 41 นาที เสด็จไปยังศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ ทอดพระเนตรการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน จัดขึ้นตาม "โครงการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้" เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการรักษาสมบัติทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะศิลปหัตถกรรมทอผ้าในแต่ละท้องถิ่น เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาหัตถกรรมไทย ให้ดำรงอยู่ยั่งยืนตลอดไป รวมทั้งยกระดับผลิตภัณฑ์ อัตลักษณ์ศิลปภูมิปัญญาสร้างความเชื่อมโยงกัน ใน 14 จังหวัดภาคใต้ ตลอดจน เป็นการประชาสัมพันธ์ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทย ของกลุ่มผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ภายในงานมีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้า ของผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย รวมทั้งเครื่องจักสานของ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 50 บูธ อาทิ บาติกยางกล้วย จากกลุ่มกะลามะพร้าว บ้านหน้าถ้ำ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น นำยางกล้วยมาพัฒนาให้เป็นอัตลักษณ์ของผ้ายางกล้วย มีโทนสีน้ำตาล ปัจจุบันได้พัฒนารูปแบบ เทคนิคการย้อม และการให้สีผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม เช่น ผ้าผืน หมวก และผ้าพันคอ, กระเป๋าเตยปาหนัน จากกลุ่มหัตถกรรมเตยปาหนันบ้านวังหิน อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ , ผ้าทอนาหมื่นศรี จากวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เช่น ลายลูกแก้วใหญ่ ลายดอกจัน ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นในเรื่องสี เนื่องจากนิยมใช้ด้ายยืนสีแดง ยกดอกสีเหลืองเป็นหลัก, บาติกข้าวเมืองคอน บ้านรักเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นเพียงแห่งเดียว คิดค้นจากการนำข้าวมาบดละเอียด แล้วพัฒนาสู่การวาดลวดลายบาติก พร้อมกันนี้ ได้พระราชทานลายผ้า "ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา", หนังสือดอนกอยโมเดล, หนังสือผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ รวมทั้ง กลุ่มสีจากหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทย และการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย เล่มที่ 2 แก่ช่างทอผ้า และผู้ประกอบการ OTOP ด้วย


จากนั้น ทอดพระเนตรการจัดนิทรรศการต่างๆ ประกอบด้วย นิทรรศการสีธรรมชาติ ผ้าย้อมครามน้ำทะเล ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จังหวัดสงขลา ที่นำพืชธรรมชาติ เช่น มะเดื่อป่า แก่นขนุน และครามที่มีในภาคใต้ มาใช้ย้อมผ้า, นิทรรศการผ้าทอเกาะยอ ที่สามเณรจากวัดโคกเปี้ยว ทอผ้าลายดอกพะยอม 4 ตะกอ 4 เท้าเหยียบทอด้วยวิธีโบราณ เรียกว่า ทอขัดเส้น, นิทรรศการผ้าโบราณภาคใต้ ของกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาหัตถกรรมเส้นใย จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นผ้าภาคใต้หาชมยาก ส่วนใหญ่เป็นผ้าจากจังหวัดสงขลา และจากชาวบ้านชุมชนมุสลิมเป็นหลัก มี "ผ้าปะรางิง" ที่มาจากประเทศอินเดีย แต่ถูกนำมาปรับใช้เทคนิคในการทำลวดลาย ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยมุสลิมใน 3 จังหวัดภาคใต้ และของดีของเด่น 14 จังหวัดภาคใต้


โอกาสนี้ พระราชทานพระวโรกาสให้ กลุ่มทอผ้า กลุ่มผ้าบาติก และกลุ่มจักสาน จำนวน 35 กลุ่ม เฝ้ารับพระราชทานคำแนะนำ เพื่อเป็นการยกระดับผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ ความเป็นธรรมชาติ และการบอกเล่าเรื่องราวประจำภูมิภาค ให้เป็นที่ยอมรับ และความต้องการของตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้ง ทรงติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของกลุ่มต่าง ๆ รวม 21 กลุ่ม ซึ่งมีพระวินิจฉัย และพระราชทานคำแนะนำ ตั้งแต่ครั้งเสด็จไปทอดพระเนตรการจัดแสดง และสาธิตผลิตภัณฑ์ผ้าทอประจำถิ่นลวดลายต่าง ๆ และหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 อาทิ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มอาชีพทอผ้าบ้านล่องมุด จังหวัดสงขลา ที่พัฒนาแก้ไขลายดอกที่ไม่ชัด โดยใช้เส้นยืนเบอร์เล็ก เส้นพุ่งเบอร์ใหญ่ และใช้ด้ายสีจากธรรมชาติแทนการใช้สารเคมี, กลุ่มกระจูดราตรี จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ปรับเปลี่ยนจากหูเชือกเป็นหูไม้ ลายปักจากเดิมที่แน่นดอกใหญ่ ก็ปรับให้เล็กลง ภายในกระเป๋ามีซิปและช่องจัดระเบียบ, กลุ่มผ้าปักค่ายจุฬาภรณ์ จังหวัดนราธิวาส ได้พัฒนางานปัก โดยใช้ไหมนางน้อย และเพิ่มความประณีตในการปักมากขึ้น, ยาริงบาติก จังหวัดปัตตานี งานบาติกด้นมือ เก็บเส้นด้ายละเอียดเรียบร้อยขึ้น และประยุกต์นำลวดลายผ้าบาติกพระราชทานบางส่วน มาใช้ร่วมกับลวดลายที่เป็นอัตลักษณ์ของกลุ่ม


ก่อนเสด็จกลับ ทอดพระเนตรการแสดงระบำตารีกีปัส หรือ ระบำพัด จากนักศึกษา และศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา รวมทั้ง นักเรียนจากโรงเรียนแจ้งวิทยา ซึ่งเป็นการแสดงพื้นเมืองของชาวไทยมุสลิมภาคใต้ นิยมใช้แสดงในงานพิธีการ งานฉลอง และงานรื่นเริงทั่วไป