พระราชสำนัก

กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงบรรยายพิเศษ พระราชทานแก่นักศึกษาแพทย์ ม.เทคโนโลยีสุรนารี

โดย panwilai_c

3 ก.พ. 2565

31 views

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงบรรยายพิเศษ พระราชทานแก่ นักศึกษาแพทย์และทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) เป็นครั้งที่ 3



วันนี้ เวลา 12.55 น. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จออก ณ ท้องพระโรง ตำหนักทิพย์พิมาน อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ทรงบรรยายพิเศษ เรื่องการเกิดโรคมะเร็ง หรือ อองโคจีเนซิส พระราชทานแก่ นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 2 และนักศึกษาทันตแพทย์ ชั้นปี 1-2 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ประจำปีการศึกษา 2564 จำนวน 103 คน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์)



โดยวันนี้ ทรงบรรยายในหัวข้อที่ 4 และ 5 เรื่อง อองโคยีน หรือ ยีนก่อมะเร็ง กับการควบคุมการเจริญของเซลล์ และเรื่องยีนระงับการเกิดมะเร็ง สำหรับ โรคมะเร็ง ที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของยีน ที่ควบคุมการเจริญของเซลล์นั้น เกิดจากการกลายพันธุ์ ทำให้เซลล์มีการแบ่งตัว และเจริญอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นยีนก่อมะเร็ง ในส่วนของยีนที่ก่อมะเร็งในไวรัส ได้มีการวิจัยพื้นฐานในระดับโมเลกุล ซึ่งจะมีกระบวนการแทรกแซงเข้าไปในเซลล์ และเข้าควบคุมการทำงานของยีนในเซลล์ปกติ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น ซึ่งก็คือการกลายพันธุ์ของยีน การย้ายตำแหน่งของโครโมโซม และการเพิ่มจำนวนของยีนอย่างรวดเร็ว



ทั้งนี้ในปกติ เซลล์จะถูกควบคุมโดยกลุ่มของโปรตีน ที่ทำหน้าที่หลายระดับ และมีขั้นตอนในการควบคุมให้เซลล์ มีการแบ่งตัวในอัตราที่เหมาะสม และหากมีความผิดปกติของยีนในเซลล์ ก็จะเกิดกระบวนการต่อต้านการเกิดมะเร็ง โดยเซลล์ที่ผิดปกติ จะเข้าสู่โปรแกรมการทำลายตัวเองแบบอัตโนมัติ ดังนั้น เมื่อยีนก่อมะเร็งกลายพันธุ์ จนไม่สามารถยับยั้ง หรือควบคุมการเจริญของเซลล์ได้ ก็จะทำให้เกิดโรคมะเร็งขึ้นในที่สุด



ทั้งนี้ นอกจากยีนก่อมะเร็งแล้ว ยังมียีนระงับการเกิดมะเร็ง ซึ่งมีหลายชนิด และทำหน้าที่ในการยับยั้ง การเจริญเติบโตของมะเร็งต่างกัน ตัวอย่างเช่น ยีน p53 ซึ่งเป็นยีนที่มีความสำคัญ และมีการศึกษา ในผู้ป่วยโรคมะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งลำไส้ โดยจะทำหน้าที่ สร้างโปรตีนจำเพาะ ในการป้องกันการเกิดเซลล์ที่ผิดปกติ คือมีบทบาทเสมือนตำรวจ ที่คอยตรวจความผิดปกติทางพันธุกรรม ผ่านกระบวนการที่ซับซ้อน และเป็นกลไกการป้องกัน ไม่ให้เกิดการแบ่งตัว หากมีความผิดปกติขึ้นในสารพันธุกรรมในเซลล์นั้น



โดยในหัวข้อที่ 4 และ5 ที่ทรงบรรยายในวันนี้ เป็นหนึ่งใน 7 หัวข้อหลัก ที่ทรงนำพระประสบการณ์ ที่ได้จากทรงศึกษา ค้นคว้า ทดลอง และวิจัย ด้านโรคมะเร็งมารวบรวมเป็นบทเรียน ซึ่งล้วนเป็นพื้นฐานสำคัญ ของการพัฒนาวิธีการวินิจฉัยโรคมะเร็ง ซึ่งจะนำไปสู่การรักษาในแนวใหม่ ที่ตรงกับลักษณะของโรค การใช้ยาที่ตรงเป้าหมาย ตลอดจนการพัฒนายา เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป