อธิบดีปศุสัตว์ เรียกถกวางมาตรการแก้ปัญหาโรคระบาดในหมู-เร่งเยียวยาเกษตรกร

สังคม

อธิบดีปศุสัตว์ เรียกถกวางมาตรการแก้ปัญหาโรคระบาดในหมู-เร่งเยียวยาเกษตรกร

โดย panwilai_c

15 ม.ค. 2565

73 views

ความคืบหน้าการจัดการปัญหาโรคระบาดในสุกรทั่วประเทศ หลังจากที่เมื่อวานนี้ นายกรัฐมนตรี เรียกอธิบดีกรมปศุสัตว์ และรองอธิบดี เข้ารายงานถึงสถานการณ์พร้อมกำชับให้เร่งแก้ปัญหาเร่งด่วนทั้งระบบ ปรากฏว่า ทางกรมปศุสัตว์ ได้เรียกประชุมด่วนสัตวแพทย์จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อมอบแนวทางปฏิบัติแบบออนไลน์ทันที



นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ได้เรียกประชุมด่วนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคทั่วประเทศ ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อเร่งดำเนินการตามนโยบายนายกรัฐมนตรี พร้อมสั่งการให้ทุกเขต และจังหวัด จัดตั้งวอร์รูม เพื่อสื่อสารข้อมูลกับประชาชนทุกวัน จนกว่าสถานการณ์โรคจะคลี่คลาย ให้บังคับใช้กฎหมายควบคุมป้องกัน และการเคลื่อนย้ายสัตว์อย่างโปร่งใส ไม่สร้างความเดือดร้อนหรือภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มแก่เกษตรกร



เร่งสำรวจการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู และปริมาณหมูที่คงเหลือในระบบ พร้อมทั้งสำรวจปริมาณความต้องการบริโภคในประเทศ รวมทั้งการส่งออก เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ บริหารจัดการแก้ไขปัญหาความต้องการสุกรทั้งระบบ และการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยและรายเล็ก



โดยเฉพาะด้านอาหารสัตว์ เพื่อลดต้นทุนในการผลิต และร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ ตรวจสอบห้องเย็น เพื่อป้องกันการกักตุนสินค้า ในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะมาถึง และหากพบโรดระบาด ให้รีบรายงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด และส่วนกลางทันที และเร่งสอบสวนโรคทางระบาดวิทยา และหาสาเหตุเพื่อควบคุมโรคโดยเร็ว



โดยอธิบดีกรมปศุสัตว์ บอกว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือ การผลักดันให้เกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อย ปรับปรุงฟาร์มให้มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพให้ได้มากที่สุด เพื่อป้องกันโรคเข้าฟาร์ม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในการป้องกันโรค เนื่องจากโรคนี้ไม่มีวัคซีนและยารักษาที่จำเพาะ พร้อมเร่งช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร และจ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายจากการทำลายสุกร เพื่อป้องกันโรคโดยเร็ว



ทางด้านนายประภัตร โพธสุธน เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่าต้นเหตุที่ราคาเนื้อสุกรมีราคาแพงขึ้นนั้น เกิดจากการเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ขอชี้แจงว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ตั้งแต่ปี 2564 มีลูกสุกรเข้าคอกเลี้ยงเฉลี่ยราว 350,000 ตัว ซึ่งปัจจุบันปริมาณลูกสุกรเข้าเลี้ยงก็ยังคงมีตัวเลขใกล้เคียงกัน อีกทั้งยังมีจำนวนสุกรที่เข้าโรงเชือดที่มีปริมาณคงที่มาโดยตลอด จึงเป็นที่น่าสนใจว่าเหตุใดราคาเนื้อสุกรจึงมีราคาแพงขึ้น โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญอาจมาจากการกักตุนสินค้าในช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว จึงได้ประสานงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

คุณอาจสนใจ

Related News