สธ.เผย แนวโน้มโควิดไทยเริ่มทรงตัว เดินหน้าโรคประจำถิ่น ‘อนุทิน’ จ่อชงผ่อนคลายมาตรการ

สังคม

สธ.เผย แนวโน้มโควิดไทยเริ่มทรงตัว เดินหน้าโรคประจำถิ่น ‘อนุทิน’ จ่อชงผ่อนคลายมาตรการ

โดย passamon_a

15 ม.ค. 2565

37 views

เมื่อวานนี้ (14 ม.ค.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 และมาตรการของ สธ.

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (14 ม.ค.) ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อในประเทศ 7,916 ราย มาจากต่างประเทศ 242 ราย ผู้เสียชีวิต 15 ราย โดยเป็นกลุ่ม 608 ถึง 13 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 510 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 105 ราย ถือว่าลดลง ทั้งนี้ เราคาดการณ์ว่าจะมีการระบาดของโควิดหลังปีใหม่ เนื่องจากการเดินทางจำนวนมากและน่าจะเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งพบว่าการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสัปดาห์แรกของม.ค. แต่ขณะนี้ผ่านมา 14 วันแล้วเริ่มทรงตัว และอาจลดลงได้

ส่วนการเตือนภัยโควิดยังอยู่ระดับ 4 ขอให้ประชาชนป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา งดเข้าสถานที่เสี่ยง ชะลอการเดินทาง และจะพิจารณาในระยะถัดไป ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นจะลดระดับการเตือนลง

“ช่วงแรกของ ม.ค.2565 การระบาดค่อนข้างรวดเร็วเป็นไปตามฉากทัศน์เส้นสีเทาที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่หลังมีมาตรการและแจ้งเตือน ประชาชนร่วมมือดีทุกภาคส่วน ระมัดระวังมากขึ้น การแพร่ระบาดก็ค่อนข้างคงที่และลดลงบางวัน จนขณะนี้ลงมาแตะเส้นสีแดงคือระดับปานกลาง

แต่ถ้าทรงตัวอย่างนี้ก็จะลดลงมาอยู่ในเส้นสีเขียว และพยายามทำให้สถานการณ์ต่ำกว่าเส้นสีเขียว ส่วนอัตราเสียชีวิตยังต่ำกว่าสีเขียว เป็นผลจากโรครุนแรงน้อยลง ภูมิต้านทานประชาชนดีขึ้น จากการร่วมใจกันฉีดวัคซีน ทั้งเข็ม 1 2 และบูสเตอร์ เมื่อภูมิคุ้มกันดี โรคอ่อนแรงลง ก็อยู่กับโรคปลอดภัยมากขึ้น” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

ด้าน นายอนุทิน กล่าวว่า ตั้งแต่ปีใหม่จนถึงวันนี้ เราพบผู้ติดเชื้อจำนวนเพิ่มขึ้น มีสายพันธุ์โอมิครอนเข้ามาระบาดในประเทศ แต่เรามีความพร้อมเรื่องการรักษาพยาบาลและการดูแลผู้ติดเชื้อ ขณะที่ความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยอาการรุนแรง อาการหนัก ใส่เครื่องหายใจ และไอซียูไม่ได้เพิ่มมากขึ้น

ผู้เสียชีวิตแต่ละวันอยู่ในช่วงขาลง ไม่เกิน 20 รายมาระยะหนึ่ง ทำให้มั่นใจได้ว่า หากประกอบข้อมูลการศึกษาจากสถาบันต่างๆ ข้อมูลวิทยาศาสตร์ก็ค่อนข้างแนวเดียวกันว่า เชื้อสายพันธุ์โอมิครอนติดได้ง่าย แต่รุนแรงไม่เท่าเดลตา จึงเป็นประโยชน์มากที่ สธ.จะมาชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจความเป็นไป เพื่อวางแผนการดำเนินชีวิตและประกอบธุรกิจอย่างถูกต้อง

“ในฐานะรัฐบาล ภาคนโยบาย ขอยืนยันว่าผมและนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีพร้อมสนับสนุนข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ที่เสนอโดยคณะแพทย์ สธ. สถาบันด้านการแพทย์ต่างๆ อย่างเต็มที่ เพื่อให้มีมาตรการที่ประชาชนใช้ชีวิตปกติสุขมากที่สุด และภาคนโยบายและภาคปฏิบัติก็เห็นตรงกันว่า

เมื่อสถานการณ์แนวโน้มดีขึ้น สธ.จะเร่งเสนอ ศบค.ผ่อนคลายมาตรการให้มากที่สุด และเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่หากมีเหตุใดอันตรายสุ่มเสี่ยงต่อประชาชนในภาพรวม สธ.พร้อมเร่งชี้แจง และเสนอมีมาตรการเพื่อย้ำเน้นความปลอดภัยประชาชนเป็นหลัก” นายอนุทิน กล่าว

ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์กรณีที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาประกาศว่ายังเร็วเกินไปที่จะให้โควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่นในปีนี้ ว่า จริงๆ ไม่ได้ขัดแย้งอะไร เพียงแต่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าไม่ควรในเวลาอันเร็ว ซึ่งกระทรวงก็ไม่ได้บอกว่าโควิดจะเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ในทันทีทันใด แต่เราก็ได้เน้นย้ำ สร้างความเข้าใจกับประชาชนว่าจะทำอย่างไรหากจะทำให้เป็นโรคประจำถิ่น

คือ 1.เชื้อรุนแรงน้อยลง 2.คนได้ภูมิต้านทานมากขึ้น และ 3.สิ่งแวดล้อมเหมาะสม ทั้งด้านการแพทย์ด้วย ที่สำคัญเกณฑ์ที่เราใช้ประเมินคือ อัตราเสียชีวิตจากโควิดต้องต่ำ เชื้อรุนแรงน้อย และประชาชนมีมาตรการ VUCA อย่างไรก็ตาม เราจะประเมินสถานการณ์ต่อเนื่อง และสร้างความร่วมมือจากประชาชนให้โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น

“เราคาดว่าหากคนร่วมมือกัน น่าจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นภายในปีนี้ ไม่ใช่วันนี้ พรุ่งนี้ เรื่องโควิดมันเพียงทุกวัน ถ้าสังเกต องค์การอนามัยโลกและหลายประเทศก็พูดไม่ตรงกัน เพราะองค์การอนามัยโลกจะดูภาพรวมใหญ่ๆ แม้แต่อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ก็เริ่มจะคิดว่าจะเป็นโรคประจำถิ่น เราต้องอยู่ร่วมกับโควิด เสียงจะออกไปทำนองนี้” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยเราเองค่อนข้างนำหน้าองค์การอนามัยโลกและประเทศอื่นๆ ในหลายเรื่อง ตั้งแต่วัคซีนสูตรไขว้ การเปิดประเทศ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์  (Phuket Sandbox) และครั้งนี้ก็เรื่องโรคประจำถิ่น เราก็ค่อนข้างพูดเร็วกว่าหลายประเทศ ดังนั้น ไม่ได้ขัดแย้งกัน เพราะเราดูในบริบทของประเทศ และมองไปข้างหน้า


ชมผ่าน YouTube ได้ที่นี่ : https://youtu.be/CAoAe-2e2K0

คุณอาจสนใจ

Related News