กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่ แม่ฮ่องสอน-เชียงใหม่

พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่ แม่ฮ่องสอน-เชียงใหม่

โดย panwilai_c

1 ธ.ค. 2564

63 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดเชียงใหม่


วันนี้เวลา 10.31 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในการนี้ ทรงวางพวงมาลัย และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี


จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคาร "ศรีสังวาลย์วรานุสรณ์" เดิมชื่อ "อาคารอายุรกรรม" ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2540 ประกอบด้วย หอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม และศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาลตามพระราชดำริ , หอผู้ป่วยสูตินรีเวชกรรม, หอผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ และหอผู้ป่วยวิกฤต ต่อมาในปี 2561 ครอบครัวใบหยก ได้แจ้งความประสงค์ปรับปรุงชั้น 4 อาคารอายุรกรรม เป็นหอผู้ป่วยวิกฤต ขนาด 8 เตียง,ห้องผู้ป่วยแยกโรคระบบแรงดันลบ 2 ห้อง, ห้องผู้ป่วยแยกโรคระบบแรงดันบวก 2 ห้อง รวมทั้ง สนับสนุนเครื่องมือทางการแพทย์ที่สำคัญ อาทิ เครื่องช่วยหายใจ, เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า และเครื่องตรวจการทำงานของหัวใจ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ ครบ 120 ปี เป็นการเพิ่มศักยภาพ ในการรักษาผู้ป่วยภาวะวิกฤตของจังหวัดแม่ฮ่องสอน และพื้นที่ชายแดน ให้มีประสิทธิภาพครอบคลุม เดิมโรงพยาบาลฯ มีเตียงรองรับผู้ป่วยวิกฤตไม่เพียงพอ ต้องส่งไปรักษาต่อที่จังหวัดเชียงใหม่


หลังจากปรับปรุงแล้วเสร็จ ในเดือนกันยายน 2562 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานนามอาคารว่า "ศรีสังวาลย์วรานุสรณ์" หมายถึง "พระราชานุสรณ์แห่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี" และพระราชทานพระราชานุญาต ให้เชิญอักษรพระนามาภิไธย " ส.ธ." ประดับที่ป้ายชื่ออาคารด้วย


ต่อมาเวลา 13.19 น. เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ซึ่งกองบินตำรวจจัดถวาย ไปทรงติดตามการส่งเสริมการศึกษาตามพระราชดำริ ที่โรงเรียนบ้านแม่หลุย อำเภอสบเมย ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2526 โดยชาวบ้านในพื้นที่ มีห้องเรียนสาขา จำนวน 5 แห่ง รับเด็กจาก 9 หมู่บ้าน 6 หย่อมบ้านเข้าศึกษา ปัจจุบันเปิดทำการสอน ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนรวม 206 คน เป็นนักเรียนพักนอน 92 คน ในปี 2549 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม รับโรงเรียนเข้าในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ โดยมุ่งเน้นให้นักเรียนรู้จักกระบวนการคิด วิเคราะห์ สังเกตุ และลงมือปฏิบัติ เพื่อบูรณาการองค์ความรู้ เนื้อหาวิชา ด้วยการจัดทำโครงงานต่าง ๆ ส่งผลให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น ในทุกกลุ่มสาระวิชา


นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัลทางการศึกษา อาทิ โครงการโรลสลัดขนมปังน้ำสลัดถั่ว เพื่อสุขภาพ สร้างอาชีพสร้างรายได้ จากผักโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน และน้ำสลัดจากถั่วพื้นเมือง ซึ่งได้รับรางวัลการประกวดโครงงานอาชีพ ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับชาติ ครั้งที่ 69 และการแข่งขันทักษะทางวิชาการ โรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ ระดับภาคเหนือ ปีการศึกษา 2562


นอกจากนี้ ยังน้อมนำแนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน มีการขยายผลสู่ชุมชนในพื้นที่ ทั้งด้านการเพาะปลูกพืชผัก กิจกรรมโรงสีข้าวชุมชน ทำให้ได้รับรางวัลสถานศึกษาแบบอย่าง การจัดกิจกรรมการเรียนรู้และการบริหารจัดการ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีการศึกษา 2563 อีกทั้งได้จัดกิจกรรมห้องสมุดเคลื่อนที่ส่งเสริมการฟัง การพูดภาษาไทยให้กับเด็ก และราษฎรในพื้นที่ ที่เป็นชาวปกาเกอะญอ ด้วยการให้ครูและนักเรียนนำหนังสือไปสอนคนในชุมชน และให้ราษฎรซึ่งเป็นปราชญ์พื้นถิ่น อบรม ให้ความรู้ด้านวิชาชีพแก่นักเรียน อาทิ การแกะสลักไม้เป็นของใช้ต่าง ๆ การทอผ้ากะเหรี่ยง และการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ทั้งนี้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทางโรงเรียนได้จัดการเรียนการสอนในรูปแบบ On hand ส่วนนักเรียนพักนอน และที่ผู้ปกครองอนุญาตให้มาโรงเรียน ได้จัดการเรียนการสอนแบบ On side ในการนี้ ได้มีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณาดำเนินการเรื่องการจัดหาน้ำ เพื่อการอุปโภค บริโภค ซึ่งจะต้องสะอาด ปลอดภัย ตลอดจนการจัดสร้างถนน และกระแสไฟฟ้าให้กับชุมชน


จากนั้นเวลา 15.35 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ ที่ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านแม่ลง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2544 สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อยู่ในถิ่นทุรกันดาร การเดินทางยากลำบาก ปัจจุบันเส้นทางดีขึ้น มีนักเรียนชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 20 คน นักเรียนที่จบแล้ว จะเรียนกศน. ที่ศูนย์การเรียนฯ แห่งนี้ ในช่วงเสาร์ อาทิตย์ ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง (โปว์) ขยันตั้งใจศึกษา มีความรับผิดชอบ ช่วยเหลืองานต่างๆ ภายในโรงเรียนได้ดี ปัจจุบันชุมชนบ้านแม่ลง ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ส่วนที่ศูนย์การเรียนฯ ใช้ไฟฟ้าระบบโซล่าเซลล์ แต่มีปัญหาเรื่องแบตเตอรี่เสื่อมสภาพ ต้องขอใช้เครื่องปั่นไฟของ อบต. นาเกียน ด้านแหล่งน้ำ ใช้น้ำระบบประปาภูเขา และแหล่งน้ำซึมน้ำซับในลำห้วยเล็ก ๆ ใกล้หมู่บ้าน ฤดูแล้งน้ำไม่พอใช้ ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้กรมป่าไม้ กรมชลประทาน และสำนักงาน กปร. ร่วมกันจัดหาน้ำ พิจารณาก่อสร้างฝายทดน้ำ พร้อมระบบส่งน้ำ และบ่อเก็บน้ำเพื่อให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี และยังเป็นแนวป้องกันไฟป่า เป็นแหล่งน้ำให้แก่สัตว์ป่าด้วย


โอกาสนี้ ทรงติดตามงานโครงการวุฒิอาสาสมัครตามพระราชดำริ ที่เริ่มโครงการปีแรก โดยเปิดโอกาสให้ข้าราชการเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ยังมีพลัง มีความรู้ความสามารถ ร่วมคิดร่วมวางแผน น้อมนำแนวพระราชดำริ ที่ได้พระราชทานไว้ในโอกาสต่าง ๆ เป็นหลักในการปฏิบัติงาน ได้รับพระราชทานชื่อว่า "วุฒิอาสาสมัคร" มีสมาชิกเริ่มแรก 14 คน ด้านกิจกรรมส่งเสริมทักษะการฟังและพูดภาษาไทย เพื่อการสื่อสารสำหรับราษฎรบนพื้นที่สูง มีการสาธิตการทำขนมข้าวต้มมัด หรือ หมี่ถ่อง ซึ่งเป็นการชักชวนให้คนในชุมชนทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อฝึกการสื่อสาร ฟัง พูดภาษาไทยร่วมกับครู ส่วนกิจกรรมการเรียนการสอน มีการสาธิตการอ่านบทอาขยาน ช่วยฝึกเรื่องการออกเสียงภาษา และฝึกความจำ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้จัดการเรียนการสอนรูปแบบ On Hand และจัดเวรให้นักเรียนผลัดเปลี่ยนกันดูแลแปลงเกษตรแบบผสมผสานตามไหล่เขา นอกจากนี้ยังมีไก่ไข่ ไก่เนื้อ และปลาดุก ผลผลิตเพียงพอประกอบอาหารกลางวัน ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ นักเรียนสามารถนำกล้วย ทำเป็นกล้วยฉาบ กล้วยเส้น จำหน่ายสร้างรายได้ระหว่างเรียน