กรมวิทยฯ ชี้ 'โอไมครอน' กลายพันธุ์หลายตำแหน่ง คาดใช้เวลาวิจัยเชื้อ 2-3 สัปดาห์ เตือนการ์ดอย่าตก แม้ยังไม่พบเชื้อในไทย

สังคม

กรมวิทยฯ ชี้ 'โอไมครอน' กลายพันธุ์หลายตำแหน่ง คาดใช้เวลาวิจัยเชื้อ 2-3 สัปดาห์ เตือนการ์ดอย่าตก แม้ยังไม่พบเชื้อในไทย

โดย pattraporn_a

30 พ.ย. 2564

28 views

ความพร้อมของการเฝ้าระวังและการติดตามเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน ที่กำลังระบาดในเกือบ 20 ประเทศทั่วโลก ไปยังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยทางกรมยืนยันว่าขณะนี้ทั่วโลกยังไม่มีข้อมูลยืนยันที่แน่ชัดของไวรัสสายพันธุ์นี้ แต่ก็มั่นใจในองค์ความรู้ด้านการเฝ้าระวังโรคที่ไทยมีอยู่ คาดว่าจะใช้เวลาวิจัยถึงสรรพคุณต่าง ๆ ของเชื้อในเวลา 2-3 สัปดาห์


ล่าสุดได้ส่งข้อมูลของเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนเทียมให้ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติหรือ ไบโอเทค ของสวทช.ตรวจสอบแล้ว คาดรู้ผลถึงคุณสมบัติของเชื้อสายพันธุ์นี้ใน 2-3 สัปดาห์


นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบายถึงเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน ที่เพิ่งค้นพบไม่นานมานี้ และพบการระบาดแล้วใน 18 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในแถบแอฟริกา


ข้อมูลเบื้องต้นของโอไมครอนที่ทั่วโลกได้รับการรายงานระบุว่าการกลายพันธุ์ของไวรัสตัวนี้พบการกลายพันธุ์มากกว่า 50 ตำแหน่ง ในจำนวนนี้มี 32 จุดที่พบว่าอาจเกี่ยวข้องกับความรุนแรงของอาการ และ อีกส่วนก็พบความคล้ายคลึงกับคุณสมบัติพิเศษของไวรัสเดิม เช่น อัลฟ่า เบต้า และเดลต้า ที่แพร่ระบาดรุนแรงและรวดเร็ว


ข้อมูลการสุ่มตัวอย่างผู้ติดเชื้อล่าสุด 75 ตัวอย่างในไทย ยังไม่พบสายพันธุ์ดังกล่าวนี้ กว่า 99% ยังเป็นสายพันธุ์เดลต้าและสายพันธุ์ย่อยเดลต้า ส่วนอีกราว 1% คือ อัลฟ่าและเบต้า


ล่าสุดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ส่งตัวอย่างยีนของสายพันธุ์โอไมครอนไปยังห้องปฏิบัติการของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติหรือ (ไบโอเทค) สวทช ซึ่งชิ้นส่วนนี้ทั่วโลกจะได้รับจากหน่วยงานกลาง เพื่อให้ทุกประเทศได้นำไปศึกษาและเตรียมการรับมือ


ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค ระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการสร้างไวรัสเทียม หรือ ซูโดไวรัสขึ้นมา เพื่อศึกษาคุณสมบัติต่างๆ ของไวรัส สายพันธุ์ใหม่ โดยไวรัสตัวแทนนี้ไม่เป็นอันตรายและไม่สามารถแพร่ระบาดได้ แต่จะมีความสามารถเหมือนไวรัสจริงทุกประการ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาวิจัยจากนี้ 2-3 สัปดาห์


แม้จะยังไม่พบการระบาดของโอไมครอนในประเทศไทย แต่อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้แนะนำให้ทุกคนปฏิบัติตัวรักษามาตรการเช่นเดิม โดยทางกรมจะสุ่มตรวจความเสี่ยงเช่นนี้ต่อเนื่องเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์ใหม่ และเตรียมความพร้อมขององค์ความรู้ในการรับมือโอไมครอนซึ่งขณะนี้ยังถือว่ามีข้อมูลน้อยมากจากจำนวนผู้ติดเขื้อที่ยังไม่มากในปัจจุบัน

คุณอาจสนใจ