'ไอลอว์' ปักหมุดติดตามร่าง พ.ร.บ. จี้ ส.ส.รับลูกโหวตทิ้งคำสั่ง คสช.

สังคม

'ไอลอว์' ปักหมุดติดตามร่าง พ.ร.บ. จี้ ส.ส.รับลูกโหวตทิ้งคำสั่ง คสช.

โดย pattraporn_a

30 พ.ย. 2564

11 views

ไอลอว์ พร้อมตัวแทนเครือข่ายพรรคการเมือง ปักหมุดติดตามสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่ง คสช.และหัวหน้า คสช. 35 ฉบับ เข้าสภาวันพรุ่งนี้ ประกาศปักหมุดวาระประชาชน ให้ประชาชนร่วมติดตาม หลังเสนอกฏหมายมากว่า 2 ปีครึ่ง


ไอลอว์ พร้อมตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน ยื่นหนังสือถึงพรรคการเมือง ผ่านนายชินวรณ์ บุญเกียรติ รองประธานวิปรัฐบาล และนายสุทิน คลังแสง ประธานวิปรัฐบาล ฝากความหวังให้สภาผู้แทนราษฎร รับหลักการในวาระที่ 1 ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ซึ่งไอลอว์ ได้เสนอกฏฆหมายนี้มากว่า 2 ปี ครึ่ง เพิ่งจะได้บรรจุเข้าวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันพรุ่งนี้ (1 ธ.ค.64)


ซึ่งนายชินวรณ์ เปิดเผยว่า ร่างกฏหมายนี้อยู่ในวาระที่ 5.6 ที่สภาต้องพิจารณาไปตามวาระ ซึ่งนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เห็นความสำคัญของกฏหมายนี้ เชื่อว่าทุกพรรคการเมืองจะให้ความร่วมมือ


ขณะที่นายสุทิน ยืนยันพรรคฝ่ายค้านสนับสนุนกฏหมายฉบับนี้เพราะต่างได้รับผลกระทบกันมาทั้งสิ้น แต่จากวาระการประชุมที่มีอยู่ คาดว่า สภาฯ อาจเลื่อนการพิจารณาไปสัปดาห์หน้า


นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ เปิดเผยว่า ไอลอว์ รอคอยให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าสภาฯ มากว่า 2 ปีครึ่ง เพราะแม้รัฐธรรมนูญปี 2560 จะบังคับใช้มากว่า 4 ปีแล้ว แต่คำสั่งคสช.ที่มีมาตั้งแต่ปี 2557 ยังมีผลบังคับใช้อยู่ รวมทั้ง คำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ใช้อำนาจออกคำสั่งจำกัดสิทธิของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ซึ่งมีคำสั่งกว่า 500 ฉบับที่ถูกนำไปใช้ละเมิดสิทธิประชาชน โดยไม่ถูกตรวจสอบ ซึ่งกฏหมายยกเลิก ได้รวบรวมคำสั่งสำคัญ 35 ฉบับ ที่ต้องยกเลิกและเชิญชวนประชาชนปักหมุดติดตามเรื่องนี้


วาระประชาชนปักหมุดปลดอำนาจ คสช.ยังจัดเสวนาพูดคุยกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช.เช่น นางอรนุช ผลภิญโญ ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ชี้ให้เห็นว่ารัฐประหารปี 2557 ทำให้เกิดนโยบายทวงคืนผืนป่า ที่ทำให้ประชาชนถูกจับกุม 31 ราย 34 คดี บางคนยังอยู่ในเรือนจำ และอีกจำนวนมากไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงอยากเห็น ส.ส.กล้าหาญรับกฏหมายฉบับนี้


เช่นเดียวกับนางสาวสุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ชี้ให้เห็นถึงการใช้อำนาจ คสช.ที่เกี่ยวข้องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ eec ที่เอื้อนายทุนและละเมิดสิทธิของประชาชน


ด้านนางสาวทัศนีย์ บูรณปกรณ์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ได้รับผลกระทบจากการไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญปี 60 โดยเฉพาะอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี จึงส่งจดหมายถึงประชาชนก่อนลงประชามติ ทำให้ถูกจับกุมและดำเนินคดี กว่าจะพิสูจน์ข้อกล่าวหาศาลยกฟ้องต้องถูกควบคุมตัวในค่ายทหารและถูกกักขัง


ขณะที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ก็ถูกควบคุมตัวจตามคำสั่งคสช.และถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ซึ่งสู้คดีมากว่า 5 ปี ก่อนโอนมาศาลยุติธรรมและศาลตัดสินยกฟ้อง และถูกยกเลิกพาสปอร์ต ก็ชนะคดี แต่ไม่เคยเรียกร้องสิทธิที่ถูกละเมิดไปได้


สำหรับประกาศและคำสั่ง คสช.ที่เสนอให้ยกเลิก รวม 35 ฉบับ เช่นการห้ามชุมนุมทางการเมือง 5 คนขึ้นไป การให้คดีพลเรือนขึ้นศาลทหาร คำสั่งให้อำนาจทหารค้นจับกุม กักตัวใน 7 วัน คำสั่งปฏิบัติการทวงคืนผืนป่า ขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ป่าตามกฏหมาย คำสั่งยกเว้นการใช้ผังเมืองในการทำแผนอีอีซี และคำสั่งให้ผู้ประกอบการสื่อออนไลน์ระงบการให้บริการส่งข้อความเชิงปลุกระดมต่อต้าน คสช.และห้ามสื่อทุกชนิดเผยแพร่ข้อมูลที่สร้างความสับสน ขยายความขัดแย้ง ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ข่าว 3 มิติรายงาน

คุณอาจสนใจ

Related News