เร่งระบายน้ำท่วม นิคมฯบางปู หนุ่มสาวโรงงานฝ่าเข้าไปทำงาน หวั่นถูกหักเบี้ยขยัน

สังคม

เร่งระบายน้ำท่วม นิคมฯบางปู หนุ่มสาวโรงงานฝ่าเข้าไปทำงาน หวั่นถูกหักเบี้ยขยัน

โดย thichaphat_d

31 ส.ค. 2564

208 views

สถานการณ์น้ำท่วมหลายพื้นที่ของ จ.สมุทรปราการ โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมบางปู หนักสุดอยู่ในเขตประกอบการเสรีเขตส่งออก ถูกน้ำทะลักเข้าท่วมสูงกว่า 1 เมตร เสียหายอย่างหนักยังไม่สามารถประเมินได้ นิคมดังกล่าวมีโรงงานประมาณ 374 โรง พบว่าน้ำท่วมประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงชุมชนต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบด้วย ล่าสุดระดับน้ำเริ่มลดลงแล้ว บางจุดยังท่วมสูง


วานนี้ (30 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู พบว่าน้ำเริ่มลดลงเหลือเพียงเล็กน้อย ถนนหลักในนิคมฯ มาจากถนนสุขุมวิท ตั้งแต่ซอย 1-9 เข้าออกได้แล้ว ส่วนในเขตส่งออกปริมาณน้ำยังคงสูงอยู่ ท้ายนิคมฯ ซอย 12-14 ยังไม่สามารถเข้าออกได้


โดยมีรถบรรทุก 6 ล้อ ของทหาร และเรือติดเครื่อง ช่วยรับส่งพนักงานเข้าไปทำความสะอาดภายในบริษัทต่างๆ ที่ถูกน้ำท่วม พนักงานยังคงทยอยเข้าไปนำทรัพย์สินซึ่งเป็นรถจักรยานยนต์ออกมาจากจุดที่น้ำท่วม


ทีมข่าวเข้าไปสำรวจด้านในนิคมอุตสาหกรรมบางปู โซนที่ยังคงมีน้ำท่วมขัง คือ บริเวณถนนโซน E1-E9 พบว่าขณะนี้บางจุดมีน้ำท่วมขังเฉลี่ยอยู่ที่ 50-60 เซนติเมตร ซึ่งลดลงจากเมื่อวันที่ 29 ส.ค. เกือบเท่าตัว แต่ถนนทั้ง 2 ฝั่ง ยังคงมีภาพรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของพนักงาน ถูกน้ำท่วมจอดทิ้งไว้จำนวนมากเนื่องจากเคลื่อนย้ายรถออกไม่ทันในคืนที่ฝนตกหนัก


จากภาพมุมสูง จะพบว่าโซนที่ยังมีน้ำท่วมขัง คือ โซนส่งออก และถนนโซน E มีโรงงงานที่ยังมีน้ำท่วมขัง อีกประมาณเกือบ 100 โรงงาน ซึ่งเจ้าหน้าที่คาดการณ์ว่าหากฝนไม่ตก สถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติในวันนี้ (31 ส.ค.) เพราะทุกฝ่ายต่างเร่งระบายน้ำออก 24 ชั่วโมง ขณะที่พนักงานบริษัทหลายคน ก็เริ่มเข้ามาดูรถยนต์ของตนเองที่จอดทิ้งไว้ บางคนก็เริ่มย้ายรถออกไปจากจุดน้ำท่วมบางแล้ว ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถประมาณได้ว่ามีรถจมน้ำทั้งหมดจำนวนเท่าใด


ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก ข่าวสารเมืองปราการ v2 ได้โพสต์ภาพพร้อมหนุ่มสาวโรงงาน เดินต่อแถวลุยน้ำท่วมสูงจนถึงเอว พร้อมถือถุงสัมภาระของตัวเอง ระบุว่า "ชีวิตหนุ่มสาวโรงงานในนิคมบางปู ! เมื่อโรงงานยังไม่ประกาศปิดก็หยุดไม่ได้ หลายคนเป็นพนักงานรายวัน บางคนกลัวเสียเบี้ยขยัน ภาพจึงออกมาอย่างที่เห็น สู้ๆนะ….. โควิดก็แย่ น้ำก็ท่วม 2 วันแล้วยังไม่ลด"


มีภาพของหนุ่มแกร็บไรเดอร์ส่งอาหาร ขี่มอเตอร์ไซค์มาจอดหน้าปากทางเข้านิคมฯ ดึงขากางเกงขึ้น หิ้วถุงอาหารเดินลุยน้ำเพื่อเข้าไปส่งอาหารให้กับลูกค้าด้านในนิคม จนกู้ภัยแซวว่า “น้ำก็ท่วมอาหารก็ต้องส่ง อย่างนี้ลูกค้าน่าจะให้ทิปซะหน่อย ”


ขณะที่นายฐิติกร ศรีนิติวรวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดสมุทรปราการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มที่บริเวณท้ายปากซอย 5 เอ ในนิคมฯ บางปู


ซึ่งทาง อบจ.สมุทรปราการ ได้นำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่จำนวน 5 เครื่อง มาทำการสูบระบายปริมาณน้ำที่ท่วมขังอยู่ในเขตประกอบการเสรี และขยายคลองระบายน้ำที่บริเวณถนนพัฒนา 1 ทั้ง 2 ฝั่งถนน ระบายน้ำฝนทั้งสองด้านของนิคม ไปลงคลองชายทะเลฝั่งถนนสุขุมวิท


พร้อมติดตั้งสถานีสูบน้ำฝนหลักเพิ่มที่ถนนพัฒนา 1 ติดคลองชายทะเล 2 จุด และปรับปรุงขยายรางระบายน้ำฝนจากรางดินเป็นราง คสล. ทำเขื่อน คสล. กั้นรอบพื้นที่เขตประกอบการเสรี เพื่อป้องกันน้ำจากส่าวนอื่นไหลเข้ามาในเขตเสรี ทำสถานีสูบน้ำฝนเพิ่มในเขตเสรี 2 จุด เพิ่มขนาดและจำนวนเครื่องสูบระบายน้ำฝน และปรับปรุงขนาดท่อส่งน้ำฝนในเขตประกอบการเสรีใหม่ทั้งหมดเนื่องจากเดิมมีขนาดเล็กไม่เหมาะสม


ส่วนที่ อ.บางพลี โดยเฉพาะหมู่บ้านชลเทพ ต.บางพลีใหญ่ ที่มีบ้านเรือนอาศัยก็ว่า 2,500 หลัง จมน้ำนานกว่า 24 ชั่วโมง ทางด้าน อบจ.สมุทรปราการ เร่งให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน จัดตั้งโรงครัวทำอาหารแจกจ่ายให้ประชาชน นำรถยกสูงร่วมกับกู้ภัยฯ จิตอาสา อพยพชาวบ้านออกจากบ้านโดยเฉพาะบ้านชั้นเดียว ที่น้ำท่วมทั้งหลัง


คุณชญตร์ มุกดาหาร ผู้สื่อข่าวอีกทีมลงพื้นที่หมู่บ้านชลเทพอีกครั้ง ถูกน้ำจากคลองควาย ซึ่งเป็นคลองที่อยู่หลังหมู่บ้านหลากเข้าท่วม เมื่อวานนี้ภายในหมู่บ้าน ตามตรอกซอกซอย ยังมีน้ำท่วมสูง 50-70 เซนติเมตร บางจุดน้ำลงไปประมาณ 10-30 เซนติเมตร ทีมข่าวได้เจอบ้านไม่มีเลขที่ ที่ปลูกริมคลองของนายจรัญ เพ่งพิศ อายุ 64 ปี อยู่กับหลานชายนายกิตติกานต์ เยกิจ อายุ 21 ปี


โดยนายจรัญ กล่าวทั้งน้ำตาว่าอยู่อาศัยมา 40 ปี ไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ คืนเกิดเหตุราวตี 2 ครึ่ง น้ำเริ่มท่วมที่ประตูบ้าน ก่อนที่จะเพิ่มระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ ตอนนั้นตนรอหลานชายกลับจากทำงาน เพราะเป็นห่วงกลัวไฟฟ้าช็อตหลาน จากนั้นจึงหอบที่นอนไปอาศัยนอนอยู่ที่ศาลแม่ตะเทียนทิพเนตร วานนี้ (30 ส.ค.) กลับมาสำรวจความเสียหายในบ้าน พบว่าตู้ และพื้นบ้าน โป่งบวมจากน้ำที่ท่วมและยังไม่รู้จะอยู่อย่างไรต่อไป


หนึ่งในหมู่บ้านที่รับน้ำที่ระบายมาจากนิคมอุตสาหกรรมบางปู คือ หมู่บ้านเมืองเอก บางปู อ.สมุทรปราการ พบว่าบนถนนหลักของหมู่บ้าน ยังมีน้ำท่วมสูงราว 50-60 เซนติเมตร ซึ่งรถยังพอสามารถขับเข้าไปได้ จนถึงบริเวณกลางหมู่บ้าน เป็นพื้นที่ลุ่ม จะเข้าไปด้เฉพาะรถยกสูงเท่านั้น


จากการสำรวจด้านในพบว่าน้ำสูงราว 70-80 เซนติเมตร หมู่บ้านรับน้ำมาจากคลองด้านหลัง ซึ่งระบายมาจากนิคมอุตสากรรม หากน้ำที่นิคมยังท่วมสูง หมู่บ้านก็จะท่วมสูงเช่นเดียวกัน ซึ่งปกติหากมีฝนตกก็จะมีน้ำท่วมขังบ้างแต่ก็จะระบายไป ครั้งนี้มีทั้งฝนที่ตกลงมาหนัก และน้ำทะเลหนุน ทำให้ไม่สามารถระบายออกไปได้ ตอนนี้น้ำค่อนข้างนิ่ง สีเข้ม และเริ่มส่งกลิ่น


ชาวบ้านคาดว่า จะต้องอยู่กับน้ำท่วมสูงอีกนานเป็นสัปดาห์ ทำให้บางคนตัดสินใจนำเงินเก็บกว่า 6 พันบาท ไปซื้อเรือมา เพราะการจะออกไปหาซื้อข้าว และของกินค่อนข้างลำบาก และในขณะที่ทีมข่าวเข้าไปสำรวจตอน 13.30 น. ชาวบ้านบอกว่ายังไม่มีหน่วยงานเข้าไป


ซึ่งจุดที่ได้รับผลกระทบหนัก คือ บริเวณสะพาน 2 และ สะพาน 3 ของหมู่บ้านที่เป็นแอ่งกะทะ มีรถจอดเสียหลายคัน และมีรถยกเข้ามายกรถออกไปตลอดทั้งวัน ซึ่งจากสถานการณ์โควิดแบบนี้ กลัวก็กลัว แต่ก็ต้องช่วยเหลือตัวเอง หนำซ้ำเงินที่หายากลำบาก ก็ต้องเอามาใช้ในยามฉุกเฉินแบบนี้ก่อน ซึ่งเส้นทางน้ำหลังจากนี้จะไหลไปลงที่คลองใหม่ ริมถนนหมายเลข 3 ถนนสุขุมวิท ซึ่งเป็นคลองขนาดใหญ่หน้าหมู่บ้าน จากนั้นจึงจะถูกสูบผันไปลงทะเล


ขณะที่นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อน โดยเผยว่าปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.บางบ่อ อ.บางพลี อ.บางเสาธง และอ.เมืองสมุทรปราการ ระดับน้ำสูงประมาณ 20 - 30 เซนติเมตร ส่วนที่ลุ่มต่ำระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 50 เซนเมตร ขณะนี้ระดับน้ำเริ่มทรงตัวแล้ว หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่ม คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 2-3 วันนี้


สำหรับการช่วยเหลือและบริหารจัดการน้ำภายในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ นั้น ได้สั่งการให้สำนักเครื่องจักรกล ได้เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมอีก 6 เครื่อง บริเวณสถานีสูบน้ำชลหารพิจิตร เพื่อเสริมศักยภาพในการระบายน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยให้เร็วยิ่งขึ้น


นอกจากนี้ได้เพิ่มเครื่องสูบน้ำอีก 3 จุด ได้แก่ สถานีสูบน้ำบางปลา , สถานีสูบน้ำคลองด่าน 2 ,และสถานีสูบน้ำตำหรุ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการระบายน้ำท่วมขังให้ไหลลงสู่อ่าวไทยได้เร็วที่สุด พร้อมยังเดินเครื่องสูบน้ำบริเวณแนวคลองชายทะเล 9 แห่ง เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้ได้ไม่น้อยกว่าวันละ 20-25 ล้านลูกบาศก์เมตร


ส่วนน้ำที่ไหลจากพื้นที่ตอนบนผ่านคลองพระองค์ไชยานุชิต ได้ประสานให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต ให้ตัดยอดน้ำบางส่วนไปลงแม่น้ำบางปะกง ที่ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่พื้นที่ จ.สมุทรปราการ


ทั้งนี้ได้ประสานงานกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.สมุทรปราการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ทราบถึงสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/Hn3gTH_-xkQ

คุณอาจสนใจ

Related News