‘ยูนิเซฟ’ เผยผลสำรวจ โควิดทำเด็กไทย 7 ใน 10 คน เครียดจากมาตรการ ปิด ร.ร. ร้อยละ 51 บ้านไม่มีคอมพ์ฯ

สังคม

‘ยูนิเซฟ’ เผยผลสำรวจ โควิดทำเด็กไทย 7 ใน 10 คน เครียดจากมาตรการ ปิด ร.ร. ร้อยละ 51 บ้านไม่มีคอมพ์ฯ

โดย JitrarutP

24 ส.ค. 2564

141 views

รายงานวิเคราะห์ล่าสุดของยูนิเซฟระบุว่า วิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้เด็ก ๆ กว่า 140 ล้านคนทั่วโลกต้องเลื่อนการไปโรงเรียนวันแรกออกไป ซึ่งถือวันที่สำคัญวันหนึ่งในชีวิตของเด็กตัวน้อยและพ่อแม่ ในจำนวนนี้ เด็กประมาณ 8 ล้านคนได้ตั้งตาคอยการเปิดเรียนมากว่าหนึ่งปีแล้ว และยังต้องรอต่อไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากโรงเรียนปิดเรียนต่อเนื่องตลอดช่วงการแพร่ระบาด


ในประเทศไทย เด็กเล็กหลายแสนคนกำลังพลาดโอกาสในการไปโรงเรียนตั้งแต่เริ่มปีการศึกษาแรกของพวกเขา ในขณะที่เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาและชั้นมัธยมศึกษาอีกหลายล้านคนก็ไม่ได้ไปโรงเรียนเนื่องจากโรงเรียนหลายแห่งยังคงปิดเรียนอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูงขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ


นางเฮนเรียตตา โฟร์ ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า “วันแรกของการไปโรงเรียนถือเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับเด็กทุกคน เพราะมันคือจุดเริ่มต้นที่พาพวกเขาก้าวเข้าสู่โลกของการเรียนรู้และการเติบโต พวกเราหลายคนอาจยังจดจำรายละเอียดของการไปโรงเรียนวันแรกได้ดี ไม่ว่าจะเป็นชุดที่เราใส่ไปโรงเรียน ชื่อคุณครู เพื่อนคนที่นั่งติดกัน แต่สำหรับเด็กนับล้านคนในเวลานี้ การไปโรงเรียนวันแรกของพวกเขากลับถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด” “โรงเรียนในหลายประเทศกำลังเริ่มกลับมาเปิดเรียนอีกครั้งและเด็กประถม 1 หลายล้านคนต่างเฝ้าคอยที่จะเข้าไปนั่งในห้องเรียนวันแรก แต่ขณะเดียวกัน ยังมีเด็กอีกหลายล้านคนที่อาจจะไม่ได้ไปโรงเรียนเลยตลอดภาคการศึกษานี้ และสำหรับเด็กกลุ่มเปราะบาง ความเสี่ยงที่พวกเขาจะไม่ได้เข้าเรียนอีกเลยยิ่งมีมากเป็นทวีคูณ”


การเข้าเรียนปีแรกของชั้นประถมศึกษา คือ การวางรากฐานสำหรับการเรียนรู้ในอนาคต ประกอบด้วยการเริ่มหัดอ่าน เขียน และคำนวณ การเรียนในชั้นเรียนยังช่วยให้เด็กได้ฝึกฝนการเป็นตัวของตัวเอง ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ และสร้างความสัมพันธ์กับคุณครูและเพื่อน ๆ นอกจากนี้ การเรียนในห้องเรียนยังช่วยให้ครูสังเกตเห็นว่า เด็กคนใดมีการเรียนรู้ช้า หรือมีปัญหาทางจิตใจ หรือถูกทำร้ายซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาวะของเด็กอย่างมหาศาล


ในพ.ศ. 2563 โรงเรียนทั่วโลกได้หยุดสอนเฉลี่ยเป็นเวลา 79 วัน แต่สำหรับเด็กนักเรียน 168 ล้านคน โรงเรียนของพวกเขาปิดเกือบตลอดทั้งปีนับตั้งแต่โควิด-19 เริ่มระบาด และจนถึงปัจจุบันการเรียนของเด็กอีกจำนวนมากต้องหยุดชะงักลงเป็นปีที่สองอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวงการศึกษา การปิดเรียนดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อเด็ก ๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะเด็กเล็กซึ่งเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการการเรียนรู้ที่หยุดชะงัก ความเครียด ตลอดจนการหลุดออกจากระบบการศึกษา การถูกใช้แรงงาน หรือการแต่งงานในวัยเยาว์


การสำรวจเด็กและเยาวชนทั่วประเทศไทยโดยยูนิเซฟในพ.ศ. 2563 พบว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เด็กและเยาวชนมากกว่า 7 ใน 10 คน มีความเครียด วิตกกังวลและเบื่อหน่าย และมาตรการปิดโรงเรียนทำให้เด็กและเยาวชนเกินครึ่งรู้สึกกังวลด้านการเรียน การสอบ โอกาสในการศึกษาต่อ และการจ้างงานในอนาคต


ในขณะที่หลายประเทศกำลังใช้การเรียนการสอนแบบออนไลน์ แต่นักเรียนชั้นประถมศึกษาอย่างน้อยร้อยละ 29 ทั่วโลกกลับเข้าไม่ถึงการเรียนออนไลน์ เนื่องจากขาดแคลนทุนทรัพย์ เทคโนโลยี ตลอดจนเครื่องมือสำหรับเรียนออนไลน์ ผนวกกับสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเรียน ความกดดันจากการต้องช่วยงานบ้าน หรือแม้แต่การต้องถูกบังคับใช้แรงงาน


การสำรวจ “ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19” โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติในพ.ศ. 2563 พบว่า ครอบครัวเกือบครึ่งหนึ่งในประเทศไทยไม่พร้อมที่จะให้ลูกเรียนออนไลน์ และร้อยละ 51 ไม่มีคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค หรือ แท็บเบล็ตที่บ้าน และอีกร้อยละ 26 ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต หรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ต้องใช้สำหรับเรียนออนไลน์ ในขณะที่อีกร้อยละ 40 บอกว่าไม่มีเวลาคอยช่วยลูกให้เรียนออนไลน์ได้


การศึกษาหลายฉบับพบว่า ประสบการณ์เชิงบวกในโรงเรียนของช่วงเปลี่ยนผ่านในวัยเด็กจะเป็นตัวบ่งชี้อนาคตด้านสังคม อารมณ์ และการศึกษาของเด็กแต่ละคน และในขณะเดียวกัน เด็กที่ขาดการเรียนรู้และพัฒนาในช่วงปีแรกมักจะรั้งท้ายตลอดช่วงการศึกษา และช่องว่างการเรียนรู้ระหว่างเด็กสองกลุ่มก็จะกว้างขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ ระดับการศึกษาของเด็กต่างก็มีผลต่อรายได้ในอนาคตของพวกเขาอีกเช่นกัน


ยูนิเซฟเรียกร้องให้รัฐบาลแต่ละประเทศเร่งเปิดโรงเรียนเพื่อให้เด็กได้กลับไปเรียนโดยเร็วที่สุด พร้อมเตรียมแผนฟื้นฟูการเรียนรู้ของเด็ก ยูนิเซฟร่วมกับธนาคารโลก และยูเนสโกขอเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูการเรียนการสอนในโรงเรียน ดังต่อไปนี้


จัดทำโครงการที่จะนำเด็กและวัยรุ่นทุกคนกลับสู่ระบบการเรียนในโรงเรียน ซึ่งควรให้บริการการเรียนรู้ ด้านสุขภาพกายและจิต และความต้องการด้านอื่น ๆ ตรงความต้องการของเด็กรายบุคคล จัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพเพื่อช่วยทดแทนการเรียนรู้ที่ขาดหายไปในช่วงที่ผ่านมา สนับสนุนครูในการแก้ปัญหาการเรียนรู้ที่ขาดหายไป พร้อมกับนำเทคโนโลยีมาเป็นส่วนหนึ่งของการสอน


“วันแรกของการไปโรงเรียน คือ วันแห่งความหวังและความเป็นไปได้ มันคือจุดแห่งการเริ่มต้นที่ดี แต่ไม่ใช่เด็กทุกคนจะมีโอกาสเริ่มต้นที่ดีในแบบเดียวกัน เด็กบางคนยังไม่มีโอกาสได้เริ่มต้นเสียด้วยซ้ำไป” นางโฟร์กล่าว “เราต้องกลับมาเปิดโรงเรียนเพื่อให้เด็กได้นั่งเรียนในชั้นเรียนโดยเร็วที่สุด และเราต้องแก้ปัญหาช่องว่างทางการเรียนรู้ที่เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดครั้งนี้ หากเราไม่ลงมือแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังและเร่งด่วน เด็กจำนวนมากจะไม่มีวันตามทัน”


องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในการกลับมาเปิดโรงเรียนอีกครั้งอย่างปลอดภัย และยินดีที่ได้เห็นมาตรการต่าง ๆ ของกระทรวงฯ ในการลดผลกระทบทางการศึกษาที่เด็ก ๆ และผู้ปกครองกำลังเผชิญ เช่น การเร่งฉีดวัคซีนให้กับครู การให้เงินเยียวยาแก่เด็กนักเรียนทั่วประเทศ และการสนับสนุนค่าอินเทอร์เนตสำหรับการเรียนออนไลน์



คุณอาจสนใจ

Related News