สังคม
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คิดค้นสูตรตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ สำหรับเด็กตำรับแรกในไทย
โดย panisa_p
5 ส.ค. 2564
1.8K views
ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วยทีมแพทย์จากโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมกันแถลงข่าว การพัฒนาและคิดค้นสูตร ตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ ต้านเชื้อไวรัสสำหรับสำหรับเด็กและผู้ป่วยที่มีความลำบากในการกลืนยาเม็ด สำหรับใช้ในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ตำรับแรกในประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันเด็กมีอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นร้อยละ 12 ของผู้ป่วยในประเทศไทย ในส่วนของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ มีผู้ป่วยเด็กติดโควิด-19 คิดเป็นร้อยละ 10 การ หากให้ยาต้านไวรัสผู้ป่วย ภายใน 4 วันหลังมีอาการ จะช่วยลดการป่วยหนักและลดการเสียชีวิตได้
ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่าผู้ป่วยเด็กทั้งหมดมีจำนวน 1 ใน 3 ที่จำเป็นต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ แต่การให้ยาฟาวิพิราเวียร์ในเด็ก ขณะนี้ต้องใช้วิธีการบดยาละลายน้ำ มีข้อจำกัดยามีตะกอน ปริมาณยาที่ได้รับไม่แน่นอน มีรสขม ติดลิ้น ทำให้เด็กกลืนยาก แต่สำหรับยาน้ำเชื่อมที่ผลิตขึ้นสามารถใช้ได้เลย ปริมาณยาคงที่และกินง่าย การให้ยาจะให้วันละ 2 ครั้ง ห่างครั้งละ 12 ชั่วโมง ส่วนปริมาณที่ให้จะขึ้นอยู่กับน้ำหนักของเด็ก และเฉลี่ยการใช้ยาจะอยู่ที่ 5 - 10 วัน ตามวิจารณญานของแพทย์ผู้รักษา
ดังนั้น ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เมดิกา อินโนวา จำกัด ผลิตยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ สำหรับใช้ในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยต้องรับประทานให้หมดภายใน 30 วัน เก็บรักษาในอุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียล หากหน่วยงานใดจะนำตำรับยาไปผลิตในโรงพยาบาลอื่นๆ ราชวิทยาลัยยินดีช่วยควบคุมมาตรฐาน เพราะสถานการณ์ระบาดแบบนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้ยาเร็วที่สุด พล.อ.ต.นพ.สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า การให้ยาในโรงพยาบาลไม่มีปัญหา เพราะในผู้ป่วยเด็กหรือผู้สูงอายุ ไม่สามารถกินอาหารเองได้ ต้องตรวจเชื้อโควิดด้วยแอนติเจน เทสต์คิท ก่อน หากเป็นบวกก็ให้ยา จากนั้นค่อยตรวจซ้ำ ด้วยการตรวจแบบ RT-PCR
ในส่วนคนไข้อื่นที่ไม่ใช่ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้วางแผนว่า จะหาหน่วยบริการอื่นๆมาร่วมมือ ทั้งการให้ยา ติดตามคนไข้ และอนาคตจะให้ร่วมผลิตในโรงพยาบาลเพราะสามารถผลิตได้ โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ยินดีช่วยควบคุมมาตรฐาน สำหรับการจอง ต้องเป็นหน่วยงาน โรงพยาบาล หรือแพทย์ ที่ต้องการยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์เท่านั้น จะเปิดให้ขอยารับยาได้ ในวันที่ 6 สิงหาคม ผ่านเว็บไซต์ https://favipiravir.cra.ac.th โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปถัมภ์
ทั้งนี้ แพทย์หรือสถานพยาบาล ที่ขอรับยามาทางราชวิทยาลัยฯ ต้องทำความเข้าใจว่า ระยะแรกยังผลิตยาได้ไม่มาก ประมาณ 100 รายต่อสัปดาห์ หรือ 20 รายต่อวัน และจะได้ยาภายใน 1 วัน หลังจากลงทะเบียนกรอกข้อมูลเรียบร้อย และจะจัดยาไม่เกินเวลา 20.00 น.ของทุกวัน แต่ในอนาคตจะเพิ่มกำลังการผลิต ส่วนค่าใช้จ่ายในการจัดส่งผู้ขอยาอาจต้องรับผิดชอบเอง หรืออาจจะประสานร่วมมือกับบริษัทจัดส่งให้ต่อไป พญ.ครองขวัญ เนียมสอน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ กล่าวว่า การระบาดที่ผ่านมามีเด็กติดเชื้อทางเดินหายใจมากขึ้น โดยเฉพาะเดือนกรกฎาคม ยอดขึ้นไป 2 - 3 เท่า
นอกจากนี้ยังพบว่า ไวรัสที่กลายพันธุ์ ทำให้เด็กมีอัตราการเกิดเชื้อลงปอดเพิ่มมากขึ้น จากเด็กมีการติดเชื้อ 50% เพิ่มเป็น 80-90% แต่ยังสบายใจได้ตรงที่อาการเด็กจะเบากว่าผู้ใหญ่ โดยเด็กปอดติดเชื้อยังไม่ต้องการออกซิเจนมากเท่าไหร่ ยังคงออกซิเจนในเลือดได้เกิน 95 - 96%เป็นส่วนใหญ่
พญ.ครองขวัญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ยาน้ำมีข้อดี คือปริมาณยาคงที่ ทำให้เด็กได้รับการดูดซึมยาอย่างดี แต่มีปริมาตรยามากกว่ายาน้ำทั่วไป เช่น ในเด็กน้ำหนัก 10 กก. ปกติจะป้อนยาประมาณ 1 ช้อน หรือ 5 cc โดยวันแรกจะได้รับยาค่อนข้างมาก แต่วันถัดไปก็จะกินยาไม่แตกต่างยาน้ำเด็กตำรับทั่วไป ขณะนี้มีการทดลองใช้จริงในคนไข้เด็ก และมีการสังเกตอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเปรียบเทียบกับยาบดละลายน้ำ โดยให้ยาในเด็กช่วงอายุ 8 เดือน - 5 ปี จำนวน 12 ราย พบว่าตอบสนองต่อการรักษาได้ดี และไม่พบผลข้างเคียงร้ายแรง มีเพียงเด็ก 8 เดือนที่อาจมีการแหวะยาในช่วงแรก แต่ปริมาณน้อย คือ 1 cc นอกนั้นสามารถรับยาได้หมด
สำหรับอาการโควิดในเด็ก จะมีอาการทั่วไป มีไข้ หรือออกผื่น ซึ่งอาจขึ้นใบหน้าหรือลำตัว อาจมีอาการนอกเหนือจากนี้ เช่น ทางเดินอาหาร เบื่ออาหารคล้ายเด็กเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ มีอาการถ่ายเหลวได้ อาการนี้อาจนำมาร่วมกับการสัมผัสผู้ป่วย ดังนั้นหากเด็กมีอาการก็อย่านิ่งนอนใจ อาจเป็นโควิดได้ ซึ่งเด็ก 1 คนอาจมีอาการเหล่านี้ได้ภายใน 1-3 วัน ดังนั้นอาจต้องมีการตรวจ ส่วนอาการอาจอยู่นานประมาณ 1-2 สัปดาห์ในเด็กไม่มีโรคประจำตัวหากได้รับยานี้
เบื้องต้นแนะนำให้ยาเป็นเวลา 5 วัน โดยวันแรก หรือยา 2 มื้อแรก ต้องรับยาค่อนข้างมากมากตามที่กำหนด คือ 4 เท่าของปริมาณปกติ เพื่อให้ระดับยาในเลือดสูงขึ้นเพียงพอต่อการแข็งตัวของไวรัส จากนั้นให้เป็นไปตามข้อกำหนด และต้องติดตามใน 4 วัน และต่อเนื่อง
แท็กที่เกี่ยวข้อง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ,โควิด19 ,ฟาวิพิราเวียร์