สรุปมาตรการยกระดับคุมโควิด 'ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว' พื้นที่สีแดงเข้ม เริ่ม 12 ก.ค.นี้

สังคม

สรุปมาตรการยกระดับคุมโควิด 'ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว' พื้นที่สีแดงเข้ม เริ่ม 12 ก.ค.นี้

โดย panwilai_c

9 ก.ค. 2564

199 views

วันนี้ (9 ก.ค. 64) ที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ ก็มีมติยกระดับสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ทั่วประเทศอีกครั้ง พร้อมประกาศใช้มาตรการควบคุมการระบาดเพิ่ม มีการจัดกลุ่มพื้นที่ใหม่ เน้นการขอความร่วมมือจากประชาชนและผู้ประกอบการ โดยมาตรการดังกล่าวไม่ได้ประกาศชัดเจนว่า เป็นการล็อคดาวน์และเคอร์ฟิวส์ แต่ระบุว่า หากพบฝ่าฝืน จะเอาผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.โรคติดต่อ


แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศบค. แถลงหลังการประชุม ศบค. ว่า ที่ประชุมเห็นสมควรให้ขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขต ทั่วทุกท้องที่ในราชอาณาจักรเป็นครั้งที่ 13 ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 โดยจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 13 กรกฎาคมนี้


นอกจากนี้ มีหลักคิดเพื่อจำกัดการเคลื่อนย้ายและการรวมกลุ่มของบุคคลเฉพาะพื้นที่ รวมทั้งกำหนดเวลาการออกนอกเคหสถาน ควบคู่ไปกับการเร่งรัดมาตรการด้านการป้องกันโรค


โดยมีการปรับ ระดับพื้นที่สถานการณ์ มีการแบ่งสีพื้นที่ เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือ "สีแดงเข้ม" 10 จังหวัด จากเดิม 6 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด "สีแดง" จาก 5 จังหวัด เป็น 24 จังหวัด พื้นที่ควบคุม "สีส้ม" จาก 9 จังหวัดเป็น 25 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวังสูง "สีเหลือง" 53 จังหวัด เหลือ 18 จังหวัด และ พื้นที่เฝ้าระวัง "สีเขียว" คงเดิม


ข้อปฏิบัติ ในพื้นที่สีแดงเข้ม 6 จังหวัด เฉพาะ กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล คือ

-จำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด

-ภาครัฐและเอกชน Work From Home ให้มากที่สุด

-ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมินิตี้มอลล์ เปิดได้เฉพาะ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธนาคารและสถาบันการเงิน ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านเครื่องมือสื่อสาร สถานที่ฉีดวัคซีน เปิดได้ถึงเวลา 20.00 น.

-ร้านสะดวกซื้อ ตลาดโต้รุ่ง ปิด 20.00 – 04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น

-ปิดสถานที่เสี่ยง ร้านนวดเพื่อสุขภาพ สปา สถานเสริมความงาม

-ปิดระบบบริการขนส่งสาธารณะ เวลา 21.00-04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น และห้ามรวมกลุ่มเกิน 5 คน


ข้อปฏิบัติใน 10 จังหวัดสีแดงเข้ม ให้ห้ามการเดินทางที่ไม่จำเป็น โดยห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 21.00 น.-04.00 น. เว้นเฉพาะกรณีจำเป็นและหรือได้รับอนุญาต เช่น กรณีเจ็บป่วย ต้องไปโรงพยาบาล หรือเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ร้านอาหารและเครื่องดื่มห้ามบริโภคอาหารและเครื่องดื่มในร้าน เปิดได้ถึง 20.00นาฬิกา เช่นเดียวกับสวนสาธารณะ


โดย มาตรการทั้งหมดจะบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป เป็นเวลา 14 วัน โดยให้หน่วยงานด้านความมั่นคงจะตั้งจุดตรวจ จุดสกัด และชุดลาดตระเวน เพื่อกำกับการดูแลให้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด หากพบกรณีฝ่าฝืน ให้บังคับใช้บทลงโทษตามพ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.โรคติดต่อ


นอกจากนี้ที่ประชุมศบค. เน้นย้ำ ให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด รับผิดชอบ กำหนดมาตรการคัดกรอง และมาตรการติดตามสำหรับบุคคลที่เดินทางเข้าไปในพื้นที่ให้มีความเข้มงวด โดยเฉพาะ บุคคลที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด


ส่วนเอกชน ก็เริ่มมีบางกิจการประกาศหยุดให้บริการชั่วคราว ในช่วงนี้ เช่น สายการบินแอร์เอเชีย ประกาศหยุดบินเส้นทางในประเทศตั้งแต่วันพรุ่งนี้ถึงสิ้นเดือนโดยจะกลับเปิดให้บริการอีกครั้งวันที่ 1 สิงหาคม


ขณะที่มีรายงาน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศว่าจะไม่รับเงินเดือนในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเวลา 3 เดือน ทำให้มีรัฐมนตรีบางคนขานรับประกาศจะงดรับเงินเดือน เป็นเวลา 3 เดือนด้วย เช่น คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้เพื่อให้นำไปใช้แก้ปัญหาสถานการณ์โควิด-19

คุณอาจสนใจ