ส่องชีวิตคนหาเช้ากินค่ำ 'ชุมชนวัดดวงแข' เผชิญวิกฤตโควิด สุดเดือดร้อน

สังคม

ส่องชีวิตคนหาเช้ากินค่ำ 'ชุมชนวัดดวงแข' เผชิญวิกฤตโควิด สุดเดือดร้อน

โดย passamon_a

13 พ.ค. 2564

146 views

เป็นอีกมุมของความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 ทีมข่าวช่อง 3 ลงพื้นที่สำรวจความเป็นอยู่ของคนหาเช้ากินค่ำ ชุมชนวัดดวงแข ชุมชนที่นี่กำลังเดือดร้อนอย่างมาก ต้องการให้ภาครัฐยื่นมือช่วยเหลือโดยด่วน


สภาพความเป็นอยู่ของชุมชนวัดดวงแข ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับสถานีรถไฟหัวลำโพง เป็นชุมชนค่อนข้างแออัด มีชาวบ้านอาศัยราว 300 หลังคาเรือน ปัญหาสำคัญของผู้คนที่นี่คือ คนส่วนใหญ่ในชุมชนทำอาชีพค้าขายหาบเร่ตามสถานีรถไฟหัวลำโพง แต่ช่วงนี้รถไฟหยุดเดิน ขาดรายได้หาเลี้ยงครอบครัว เปลี่ยนสถานขายก็ไม่มีคนซื้อ


บางคนบอกกับทีมข่าวว่า บางวันหารายได้ ได้เพียง 29 บาท พยายามดิ้นรนรับจ้างซักผ้าเก็บขวดขาย เพื่อหาเงินวันละ 100-200 บาท ไม่ได้อยู่นิ่งเฉย เพราะต้องสู้กับค่าเช่าบ้าน เดือนละ 2,000-3,000 บาท บางบ้านมีผู้สูงอายุ ผู้พิการ ด้วยจะออกไปหาอะไรทำให้ได้เงินมาประทังชีวิตก็ยากลำบาก


เช่นเดียวกับคุณยายวัย 73 ปี รายนี้ เปิดเผยว่า ตนเองใช้ชีวิตอยู่คนเดียว มีเพื่อนบ้านในชุมชนช่วยกันดูแล และยังพยายามหาบเร่ขายของกับรถไฟบางขบวนที่ยังเดินรถอยู่ แต่ก็ขายไม่ได้ บางครั้งหมดหนทางถึงขั้นต้องไปกู้เงินนอกระบบ ดอกเบี้ยร้อยละ 20 มาชำระค่าเช่าบ้าน ซ้ำเติมสภาพความเป็นอยู่หนักขึ้นอีก


ด้าน คุณกาญจนศิริ คำรื่น ประธานชุมชนวัดดวงแข บอกว่า สิ่งที่ห่วงมากขณะนี้คือโรคโควิด-19 มีคนในชุมชนติดเชื้อแล้ว 6 คน ไปรับเชื้อมาจากนอกชุมชน จึงกลัวว่าจะยังมีคนติดเชื้ออีก และจะกลายเป็นคลัสเตอร์แบบชุมชนคลองเตย บางบ้านยังมีการกักตัวผู้ที่มีความเสี่ยงอยู่ จึงเรียกร้องหน่วยงานช่วยลงพื้นที่มาตรวจเชิงรุก เพื่อป้องกันการระบาดในชุมชน เพราะเป็นชุมชนแออัด


รวมถึงขอให้ภาครัฐเยียวยาคนตกงาน และผู้สูงอายุ ที่ยังไม่เข้าถึงสวัสดิการของรัฐจำนวนมากในชุมชน เรียกร้องให้เยียวยาถึงตัวประชาชน เพราะบางคนไม่มีสมาร์ทโฟน ไม่มีความรู้เรื่องระบบที่ซับซ้อน ต้องการเงินสดมาเยียวยามากกว่า นอกจากนี้หลายคนยังขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันโรค และยังไม่เข้าใจถึงความสำคัญในการฉีดวัคซีน บางคนกลัวผลข้างเคียง จึงอยากให้หน่วยงานที่มีความรู้ช่วยมาประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชนด้วย


น.ส.เสาวรัตน์ ประดาห์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ซึ่งเป็นภาคประชาสังคมในพื้นที่ กล่าวว่า คนที่นี่ส่วนใหญ่หารายได้เป็นรายวัน ทำให้ขาดรายได้ ทำให้มูลนิธิและภาคประชาสังคมต้องช่วยเหลือมอบข้าวสารอาหารแห้ง ส่วนตัวเข้าใจว่าภาครัฐก็พยายามแก้ปัญหา แต่อาจจะยังไม่ทั่วถึง


ดังนั้นตอนนี้มูลนิธิและประธานชุมชนเอง ก็พยายามหาทางว่าจะทำอย่างไรให้ข้อมูลปัญหาเข้าถึงหน่วยงานภาครัฐได้รับทราบด้วย เพราะเข้าใจว่าภาครัฐคงมีงานล้นมือ ส่วนสถานการณ์การโควิด-19 ในชุมชน ก็มีมาตรการดูแลกันเองอย่างเข้มงวด ทุกคนตื่นตัวป้องกันการแพร่ระบาดของโรค


อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้โครงการเรื่องเล่าแบ่งปัน ได้ลงพื้นที่ไปช่วยเหลือแบ่งปันอาหาร บรรเทาสถานการณ์บางส่วนแล้ว ซึ่งชุมชนยังต้องการความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าชุมชนแบบนี้ไม่ได้มีชุมชนเดียวในกรุงเทพมหานคร จำเป็นที่หน่วยงานภาครัฐช่วยเหลือเยียวยาให้เข้าถึงคนอย่างทั่วถึง



สามารถดูข่าวทาง Youtube ได้ที่ : https://youtu.be/-nnEHM-sLng


คุณอาจสนใจ

Related News