ยอดพุ่งไม่หยุด! ไทยทำสถิติผู้ติดเชื้อโควิดสูงถึง 1,335 คน มากที่สุดในรอบ 1 ปี

สังคม

ยอดพุ่งไม่หยุด! ไทยทำสถิติผู้ติดเชื้อโควิดสูงถึง 1,335 คน มากที่สุดในรอบ 1 ปี

โดย sujira_s

15 เม.ย. 2564

53 views

สถานการณ์โควิด 19 ในประเทศที่ทำสถิติพบผู้ติดเชื้อมากที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดเกิดขึ้นในประเทศ ที่ 1,335 คน โดยนายกรัฐมนตรีเตรียมพิจารณาปรับมาตรการควบคุมโรคให้เข้มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดสูง


ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ยืนยันวันนี้ไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 1,335 คน สูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดภายในประเทศ โดยครั้งสุดท้ายที่ไทยพบผู้ติดเชื้อมากที่สุดคือวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา จำนวน 1,146 คน จากกรณีคลัสเตอร์ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร


สำหรับจำนวนนี้แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,326 คน และ ผู้กลับจากต่างประเทศ 9 คน ขณะนี้ไทยมียอดผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมด 35,910 คน เฉพาะการระบาดระลอกใหม่ 14 วันนี้ มีผู้ติดเชื้อแล้ว 7,047 คน


นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ของไทยและทั่วโลกมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเพิ่มเติมนอกจากการสั่งปิดสถานบันเทิง


แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือ ช่วงหลังสงกรานต์จะมีการเดินทางข้ามจังหวัดกลับมาทำงาน จึงขอความร่วมมือให้ทุกคน Work from home และย้ำว่าจำเป็นต้องคุมสถานการณ์ให้ได้โดยเร็ว ไม่เช่นนั้นตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจพุ่งสูงถึง 1-2 หมื่นคนต่อวัน


ขณะที่ เลขาธิการ สมช. ระบุว่าภายใน 1-2 วันนี้ คาดว่าจะมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้นออกมา ซึ่งอาจยกระดับพื้นที่จังหวัดที่มีความเสี่ยงมากขึ้น และสั่งปิดหรือลดเวลาการเปิดปิดสถานที่บางประเภท เช่น กิจกรรมที่รวมกลุ่ม ประเภท ฟิตเนส ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า


โดยห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารอาจจะต้องปิดเร็วขึ้น ขณะที่กรณีผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่เป็นแฟนกันโดยสารเครื่องบินกลับจังหวัดนครศรีธรรมราชทั้งที่รู้ผลว่าติดเชื้อ ล่าสุดกรมควบคุมโรคได้สั่งการให้สอบสวนข้อเท็จจริง และพบว่ามีความผิดตามกฎหมายควบคุมโรค


โดยนายแพทย์จรัสพงษ์ สุขกรี สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุว่า ผู้ติดเชื้อได้แจ้งว่า ได้ไปตรวจเชื้อที่คลินิกเอกชน และเมื่อรู้ว่าติดเชื้อ ก็หาสถานที่กักตัวแต่หาไม่ได้ และไม่ทราบสิทธิการรักษา จึงตัดสินใจกลับจังหวัดนครศรีธรรมราช


โดยถือว่าผิดกฎหมายพื้นที่กรุงเทพมหานคร เนื่องจากเมื่อทราบผลต้องงดการเคลื่อนย้าย และเร่งประสานโรงพยาบาล ขณะที่คลินิกที่เข้าตรวจหาเชื้อก็มีความผิดร่วมด้วย เนื่องจากไม่แจ้งกรมควบคุมโรคหรือเจ้าพนักงานในพื้นที่ ซึ่งตามระเบียบคลินิกต้องแจ้งประสานโรงพยาบาลภายใน 3 ชั่วโมง

คุณอาจสนใจ

Related News