เลือกตั้งและการเมือง
‘เศรษฐา’ เปิดงาน ‘Bangkok Pride 2024’ ลั่นไม่หยุดแค่ 'สมรสเท่าเทียม' เดินหน้าดันคำนำหน้าชื่อ-เซ็กซ์เวิร์คเกอร์
โดย petchpawee_k
1 มิ.ย. 2567
227 views
“นายกฯ เปิดงาน Bangkok Pride Festival 2024 บอกขอสปีชด้วยใจ ไม่อ่านตามสคริปต์ เผย รัฐบาลจะไม่หยุดแค่ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ให้คำมั่นจะผลักดัน “คำนำหน้าชื่อ-เซ็กซ์เวิร์คเกอร์” ให้เป็นที่ยอมรับทั่วโลก พร้อมตั้งเป้าเป็นเจ้าภาพจัด World Pride ปี 2030
ต้อนรับ Pride Month ปี 2567 นี้หลายหน่วยงานเตรียมจัดวานกันคึกคัก ซี่งปีนี้กรุงเทพมหานคร ร่วมกับนฤมิตไพรด์, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมพันธมิตรภาคประชาสังคมและภาคเอกชน องค์กรสิทธิเพศหลากหลายกว่า 30 องค์กร ร่วมกันจัดงาน บางกอกไพรด์ เฟสติวัล 2024 (Bangkok Pride Festival 2024) ภายใต้แนวคิด Celebration of Love นับถอยหลังสู่การใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมก่อนสิ้นปี 2567 สำหรับงาน Bangkok Pride Festival 2024 การสนับสนุนและผลักดันให้มีการยอมรับสมรสเท่าเทียมในสังคมไทย หากกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ก่อนสิ้นปี 2567 โดยประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อนุญาตให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศแต่งงานกันอย่างถูกกฎหมาย
วันนี้ (31 พ.ค.67) เวลา 17.15 น. มีการเปิดงาน Bangkok Pride Festival 2024 อย่างเป็นทางการ ณ ลานพาร์คพารากอน ศูนย์การค้าสยามพารากอน ก่อนพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ มีการเดินขบวนเปิดงาน
นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้สวมเนคไทสีรุ้งพาสเทล มาร่วมงาน พร้อมด้วย นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำขบวนพิธีเปิด ตามมาด้วยตัวแทน LGBTQ+ ที่แต่งตัวแบบจัดเต็มร่วมงาน นอกจากนี้ยังมีโชว์เปิดสุดมันส์จากเหล่า DRAG BANGKOK - และคริสติน่า อากีล่าร์ นักร้องชื่อดัง
ก่อนการเปิดงานมีตัวแทนจากชุมชนความหลากหลายทางเพศ 5 คน กล่าวถึงการต่อสู้เพื่อคุ้มครองสิทธิ ก้าวสำคัญของการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม และก้าวต่อไปเพื่อความเป็นธรรมทางเพศ ช่วงหนึ่งมีตัวแทนพูดและฝากถึงรัฐบาลว่า
“พวกเรา ไม่ได้ต้องการเดินขบวนไพรด์เพื่อ เฉลิมฉลองความภาคภูมิใจอย่างเดียว พวกเราต้องการเรียกร้องกฎหมายสมรสเท่าเทียม และขอขอบคุณรัฐบาลที่กำลังจะทำให้เกิด แต่สิ่งอื่นใดอย่าลืมประเด็นบุพการีของภาคประชาชนด้วย และสิ่งที่เราต้องการอีกคือเรื่องของการยกเลิกกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 เพราะหวังว่า “Sex work is work” จะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ประการต่อมาเราอยากให้เกิด พ.ร.บ. รับรองฐานะทางเพศ และโปรดเชื่อว่าพวกเราทุกคนมีเจตจำนงในการกำหนดเพศของพวกเรา และอยากให้ทุกคนช่วยผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.การขจัดการเลือกปฏิบัติภาคประชาชนด้วย”
จากนั้นนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ขึ้นกล่าวเปิดงาน Bangkok Pride Festival 2024 ระบุว่า กราบสวัสดีพี่น้องชาวไพรด์ LGBTQ วันนี้มีสปีชเขียนมาให้ยาวเหยียดพอสมควร แต่คิดว่ามาวันนี้ มาพูดด้วยใจดีกว่า ก่อนจะบอกว่า วันนี้เป็นวันที่เราได้มาเฉลิมฉลองสิทธิขั้นพื้นฐานของเราทุกคนควรที่ควรจะมี ใครจะคิดว่าเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมาจะมีคน 200,000 คน มาเดินพาเหรดในสถานที่แห่งนี้ และในวันพรุ่งนี้ ที่หน้าสยามพารากอนก็จะมี คนจำนวน 200,000 คน มาแสดงออกสิทธิพื้นฐานที่ควรจะมี ตนจึงขอชื่นชมคณะผู้จัดงาน พี่น้องชาวไพรด์ LGBTQ ทุกท่าน ที่ต้องอดทนแบบไม่ควรจะอดทน แต่ก็อดทนกันมา และผลักดันกันมา รวมทั้งพูดคุยกันในเวทีที่สร้างสรรค์ จนกระทั่งร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมจะเกิดขึ้นแล้ว
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า รัฐบาลจะเดินหน้าไปกับทุกคน เราจะไม่หยุดยั้งแค่ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ในเรื่องของคำนำหน้าชื่อ สิทธิประกอบอาชีพ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ เป็นองค์ประกอบที่ทำให้ทุกคนได้รับสิทธิ และได้รับการยอมรับจากทั่วโลก
แน่นอนว่าเราไม่ได้มาเฉลิมฉลองแค่วันนี้วันเดียว หรือเดือนนี้เดือนเดียว แต่ต้องการให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยั่งยืน ซึ่งเดือนมิถุนายน เราจะร่วมกันเฉลิมฉลองกัน และหวังว่าในปี 2030 จะได้รับการไว้วางใจให้จัด เวิลด์ไพรด์ของโลกขึ้นมา
นายเศรษฐา กล่าวว่า ในฐานะรัฐบาลขอให้คำมั่นว่าจะช่วยผลักดันเรื่องคำนำหน้าชื่อ และเรื่องเซ็กซ์เวิร์คเกอร์ ให้ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ซึ่งช่วงนี้ได้รับเสียงปรบมือกึกก้องจากคนในงาน
นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ช่วงนี้ทำงานหนัก ขึ้นเวทีมาหลายเวที แต่เวทีนี้เป็นความแตกต่าง ก่อนจะยกตัวอย่างเสื้อตัวหนึ่งของคุณชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัทสยามพิวัฒน์ที่มาร่วมงานว่ามีเสื้อสกรีนคำว่า “Right to Love” มันบกบ่องถึงทุกอย่าง ว่าหมายความว่า “สิทธิที่จะมีความรัก” ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของทุกท่านที่ควรจะมี ควรได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล
ช่วงท้ายนายเศรษฐา ได้อวยพรให้ผู้จัดงานประสบความสำเร็จ ขอให้ชาวไพรด์ทุกคนประสบความสำเร็จ สมหวังในทุกเรื่องที่อยากจะได้ อยากจะเป็น รัฐบาลนี้ รวมถึงทุกพรรคร่วมรัฐบาลจะช่วยกันผลักดันอย่างเต็มความสามารถ ให้ทุกท่านไปถึงในจุดที่อยากไป
สำหรับงาน Bangkok Pride Festival 2024 ในปีนี้จะจัดในวันนี้ (1 มิ.ย.67) ตั้งแต่เวลา 15.00-21.00 น. ไฮไลท์คือขบวนพาเหรด ประกอบไปด้วย 5 ขบวนหลัก 5 นิยามความรักที่เปิดกว้างให้ผู้เข้าร่วมตีความ แสดงออก และนำเสนอนิยามความรักในแบบของตัวเองเพื่อใช้ความรักนำทางสร้างสรรค์สังคมที่เท่าเทียม ซึ่งจะเดินขบวนกันตั้งแต่บริเวณสนามกีฬาแห่งชาติ ศุภชลาศัย ผ่านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ สยามเซ็นเตอร์ สยามพารากอน วัดปทุมวนาราม ถึงสี่แยกราชประสงค์ บริเวณลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ พร้อมธงสีรุ้งยาวที่สุดในประเทศไทย 200 เมตร โบกสะบัดตลอดทาง รวมระยะทางกว่า 2.5 กิโลเมตร
ทั้งนี้ จะมีนายเศรษฐา เป็นคนมอบ ธงไพรด์ประจำจังหวัด สัญลักษณ์การเปิดเทศกาลเฉลิมฉลองเดือนไพรด์ให้กับเครือข่ายต่างจังหวัด เพื่อปักหมุดไพรด์ทั่วประเทศ
ขณะที่น.ส.ปิยฉัฏฐ์ วันเฉลิม สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของวุฒิสภา กล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (กฎหมายสมรสเท่าเทียม) ว่า พิจารณาครบหมดแล้วทั้ง 69 มาตรา ซึ่งในชั้นกรรมาธิการไม่ได้มีการแก้ไขมาตราใด แต่มีผู้แปรญัตติเพียง 2 คน คือ พลตำรวจโท ศานิตย์ มหถาวร ที่มีการเสนอแปรญัตติขอใหเกฎหมายมีผลบังคับใช้วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วน พลเอก วรพงษ์ สง่าเนตร ของแปรญัตติแก้ไข ถ้อยคำเพียงเล็กน้อยซึ่งไม่ได้ทำให้สาระสำคัญหายไป
โดยกรรมาธิการส่วนใหญ่ยังเห็นว่าควรบังคับใช้หลังจาก 120 วันนับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เนื่องด้วยเป็นช่วงเวลาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย ได้มีเวลาเตรียมการ เช่น เตรียมทะเบียนสมรสที่จะใช้ และออกระเบียบให้สอดคล้องกับ หลักศาสนาของเจ้าหน้าที่ที่เป็นมุสลิมเพื่อง่ายต่อการปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น
สำหรับการพิจารณาเบื้องต้นจะมีการบรรจุระเบียบวาระในวันที่ 18 มิถุนายนนี้ ในช่วงเปิดสมัยประชุมวิสามัญรัฐสภา ซึ่งในประเด็นที่มีการแปรญัตติ ก็ให้ที่ประชุมลงมติชี้ขาด พร้อมยืนยันว่า กฎหมายฉบับนี้พร้อมบังคับใช้ภายในปีนี้แน่นอน
แท็กที่เกี่ยวข้อง PrideMonth ,เศรษฐาทวีสิน ,สมรสเท่าเทียม ,Bangkok Pride 2024