เลือกตั้งและการเมือง
ราชทัณฑ์ แจงไทมไลน์ก่อน ‘บุ้ง ทะลุวัง’ เสียชีวิต ยันไม่ได้ส่งตัวช้า - ‘ตะวัน’ เสียใจ ไม่มีโอกาสส่งเป็นครั้งสุดท้าย
โดย nicharee_m
18 พ.ค. 2567
89 views
อธิบดีราชทัณฑ์ แจงไทมไลน์ก่อน ‘บุ้ง ทะลุวัง’ เสียชีวิตอีกครั้ง ยันไม่ได้ส่งตัวรักษาช้า ‘ทวี’ ชี้ภาพวงจรปิด ต้องรอเอกสารขออนุญาต ขอมั่นใจบันทึกเหตุการณ์ครบถ้วน – ‘ตะวัน’ เสียใจอยู่กับ ‘บุ้ง’ จนวินาทีสุดท้ายของชีวิต แต่คงไม่มีโอกาสส่งเป็นครั้งสุดท้าย
กรณี น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง ผู้ต้องขังคดีทางการเมือง ล้มฟุ่บและหัวใจหยุดเต้น แพทย์ต้องปั๊มหัวใจยื้อชีวิต แต่ไม่เป็นผล ก่อนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 พ.ค.67 เวลา 11.22 น. โดยทางฝั่งนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังคงคาใจหลายประเด็นเกี่ยวกับเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร ทั้งเรื่องการช่วยชีวิตช่วงเกิดเหตุ รวมทั้งทวงถามเรื่องประวัติการรักษา และวงจรปิดช่วงเกิดเหตุจากราชทัณฑ์แล้ว แต่ยังไม่ได้รับข้อมูล
วานนี้ (17 พ.ค.67) ที่กระทรวงยุติธรรม นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้เผยไทม์ไลน์และอธิบายขั้นตอนการช่วยชีวิต น.ส.เนติพร หรือบุ้งอีกครั้งหลังก่อนหน้านี้มีการแถลงข้อมูลสับสัน ว่า จากขั้นตอนที่ได้รับรายงานมานั้นในขั้นตอนแรกพบว่าบุ้งและตะวันตื่นตั้งแต่เวลาประมาณ 03.00 น. และมีการพูดคุยกัน จากนั้นตะวันไปเข้าห้องน้ำ แล้วกลับมาถามบุ้งที่ขณะนั้นนอนอยู่ที่เตียงผู้ป่วยว่า ยังปวดท้องอยู่หรือไม่ และเจ้าหน้าที่ได้เข้ามาตรวจ สภาพร่างกายตามปกติทุกวันทั้งการตรวจวัดความดัน ออกซิเจน การเต้นของหัวใจ
พอตรวจบุ้งเสร็จแล้ว ก็มาตรวจตะวันต่อ หลังจากนั้นประมาณ 1 นาที หรือเวลาประมาณ 06.20 น. บุ้งได้ลุกขึ้นนั่ง และปรากฏว่ามีอาการวูบ จากนั้นเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ (อสรจ.) จำนวน 4 คน ได้ยกบุ้งพร้อมที่นอนไปรักษาที่ห้องไอซียู และทำ CPR มีการตรวจวัดชีพจร ให้กลูโคลส ฉีดอะดรีนารีนเพื่อกระตุ้นหัวใจ โดยมีแพทย์เป็นผู้ฉีด มีการทำ CPR ตลอดเวลาต่อเนื่อง จนกระทั่งนำตัวส่งแพทย์ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ระหว่างนั้นมีการประเมินสภาวะร่างกายโดยการจับชีพจรแต่ไม่สามารถจับสัญญาณการเต้นของหัวใจได้ แต่สัญญาณชีพที่ตรวจวัดได้ครั้งสุดท้ายคือ 90 ครั้ง/นาที จนกระทั่งเวลาประมาณ 11.22 น. ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์จึงแจ้งว่า เสียชีวิตอย่างสงบ
ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสงสัยว่าบุ้งได้เสียชีวิตระหว่างนำตัวส่งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์หรือไม่นั้น นายสหการณ์ กล่าวว่า จะต้องไปตรวจสอบเพิ่มเติมแต่คิดว่าอยู่ระหว่างการยื้อชีวิตให้ได้มากที่สุด แต่ไม่ได้บอกว่าสิ้นชีพไปแล้ว ยืนยันว่าไม่ได้ส่งตัวช้า เพราะหลังเกิดเหตุได้ประสานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์โดยทันที แต่ระหว่างนั้นมีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการหลายอย่าง ย้ำว่าได้พยายามสุดความสามารถแล้ว ซึ่งจากการได้พูดคุยกับเพื่อนที่เป็นแพทย์ก็ยืนยันว่า ได้ทำไปตามมาตรฐานของโรงพยาบาล
ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และไม่มีอาการที่บ่งชี้มาก่อนว่าจะเกิดภาวะฉุกเฉินที่ส่งผลต่อชีวิต ซึ่งได้ตรวจสอบรายงานทางการแพทย์มาแล้วทุกอย่างเป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ ห้องกู้ชีพของทัณฑสถานและการรักษาของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ก็มีความพร้อมในระดับมาตรฐานของสถานพยาบาลชั้นทุติยภูมิโดยทั่วไป แต่หลังจากนี้จะต้องมีการตรวจสอบว่า มีสาร และอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการกู้ชีพเพียงพอหรือไม่
ส่วนเรื่องการดูแลรักษาในวันนั้น เนื่องจากบุ้งเป็นผู้ป่วยพักฟื้น ไม่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษจะมีการตรวจ จัดอาหารและอาหารเสริมให้ตามปกติ รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ในห้องนั้นมีหน้าที่ที่คอยเป็นหูเป็นตาให้กับแพทย์โดยมีแพทย์และพยาบาลควบคุมดูแลอีกชั้นหนึ่ง
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยืนยันว่า โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ได้พยายามยื้อชีวิตอย่างสุดความสามารถ แต่ไม่สามารถยื้อชีวิตไปได้ ส่วนรายละเอียดทางการแพทย์ในเชิงลึกนั้นอยู่ระหว่างการตรวจสอบ รวมถึงไม่ได้ส่งตัวช้า เนื่องจากมีหลายขั้นตอนที่ต้องทำ เช่น ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสัญญาณหัวใจ
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เผยต่อว่า ส่วนประเด็นภาพกล้องวงจรปิดภายในห้องพักผู้ป่วยทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ที่มี น.ส.ทานตะวัน อยู่กับ น.ส.เนติพร ก่อนเสียชีวิตและแผนการรักษาล่วงหน้า 5 วันที่ทนายกฤษฎางค์ได้ขอนั้น ตนทราบว่าเมื่อช่วงเช้าวานนี้ (17 พ.ค.67) ทางผู้แทนของผู้เสียชีวิต ได้เข้ามาติดต่อรับเอกสารการตรวจรักษาของบุ้งย้อนหลัง 5 วันเรียบร้อยแล้ว
ส่วนภาพจากกล้องวงจรปิด คงต้องดูอีกที เพราะมันไม่ไปเกี่ยวข้องกับคนอื่นๆ ในห้องนั้นด้วย คงต้องมีการเซ็นเอกสารยินยอมจากผู้อื่นก่อน ทั้งนี้ ถ้าหากทางครอบครัวยังมีความข้องใจเรื่องการเสียชีวิต อำนาจคำสั่งของศาลสามารถดำเนินการไต่สวนได้หมดเพื่อพิสูจน์ความผิดต่างๆ
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงการชันสูตรพลิกศพ น.ส.เนติพร ว่า ขั้นตอนการชันสูตรพลิกศพนั้น เบื้องต้นการชันสูตรผู้เสียชีวิตที่อยู่อยู่ระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่จะต้องมีพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการและฝ่ายปกครอง มาร่วมดำเนินการภายใต้คำสั่งของอัยการ โดยทำสำนวนและส่งศาลใน 30 วัน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสต่อสาเหตุการเสียชีวิต จากนั้นศาลจะดำเนินการไต่สวนสำนวนภายใน 30 วัน
ส่วนลำดับเหตุการณ์ขณะเสียชีวิตนั้นขณะนี้กรมราชทัณฑ์กำลังดำเนินการจัดทำรายละเอียดเพื่อชี้แจงทั้งหมดว่า โดยเบื้องต้นทราบว่ามีผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ 9 คน และจากการที่ดูกล้องวงจรปิดแล้วมีบันทึกรายละเอียดเหตุการณ์ไว้ทั้งหมดรวมถึงเหตุการณ์ย้อนไปหลายวัน จึงขอให้มีความมั่นใจได้
ส่วนกรณีที่ทนายกฤษฎางค์ บอกว่า อยากดูภาพจากกล้องวงจรปิดนั้น โดยหลักการนั้น สามารถให้ได้อยู่แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ขอตรวจสอบก่อนและได้คุยกับทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์แล้วว่าให้เปิดเผยข้อมูลเป็นหลัก อะไรที่เป็นสิทธิ์ของผู้ป่วยที่ต้องขออนุญาตก่อน
ขณะที่ วานนี้ (17 พ.ค.2567) นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวภายหลังมอบหมายให้ทีมทนายความที่ได้รับมอบอำนาจจาก พี่สาวของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง เข้าไปขอรับประวัติการรักษาย้อนหลัง 5 วัน และกล้องวงจรปิดจากทางราชทัณฑ์ ว่า ราชทัณฑ์ยังไม่ได้มอบข้อมูลที่ขอให้ เนื่องจากการมอบอำนาจไม่ถูกต้อง ตามกฎกระทรวงต้องให้ครอบครัวที่เป็น พ่อ แม่ และพี่สาว เข้าไปรับด้วยตัวเอง ทั้งๆ ที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ยืนยันว่าให้เข้ามารับได้ แต่สุดท้ายก็ไม่ให้
ทั้งๆ ที่พี่สาวมอบอำนาจให้มาขอแต่ไม่ได้ ต้องให้พ่อ แม่ มาเอาเอง ซึ่งพ่อเขาที่เป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งท่านเห็นว่า ได้รับอนุญาตแล้วแต่สุดก็ไม่ได้ ส่วนแม่ก็ใจสลายอยู่ พี่สาวยุ่งเรื่องงานศพ ซึ่งตนไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่ให้โดยอ้างเหตุผลนี้
เมื่อถามว่าทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์ อธิบายขั้นตอนการช่วยชีวิต น.ส.เนติพร ตั้งแต่ล้มฟุ่บลงไปและมีการนำไปปั๊มหัวใจที่ห้องไอซียูข้อมูลตรงนี้ตรงกับข้อมูลที่ได้รับมาจากนางสาวทานตะวันหรือไม่ ทนายกฤษฎางค์ บอกว่า “ไม่ตรงครับ ไม่ตรง แต่ผมขอว่ายังไม่เปิดว่าไม่ตรงส่วนไหนบ้าง เพราะอยากให้ข้อเท็จจริงที่เขาแถลงหมดสิ้นกระแสความก่อน”
ด้าน ตะวัน ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ที่ถูกขังอยู่ห้องเดียวกับ บุ้ง เพิ่งทราบข่าว จนเกิดอาการเครียด และถูกส่งตัวจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไปโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมานั้น
ล่าสุด (18 พ.ค.) เฟซบุ๊กของตะวัน “Tawan Tantawan” มีการเคลื่อนไหวโพสต์ภาพและข้อความระบุว่า “ตะวันยังคงอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ณ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ หลังจากการเสียชีวิตของพี่บุ้งส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจอย่างรุนแรง
เนื่องจากช่วงที่ตะวันอดอาหารและถูกจองจำในเรือนจำ พี่บุ้งคือบุคคลที่ตะวันสนิทที่สุด และใช้เวลาร่วมกันจนถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิต แต่น่าเศร้าใจที่ตะวันไม่ได้เอ่ยคำร่ำลาก่อนที่ร่างของพี่บุ้งจะถูกเคลื่อนย้ายออกไปตลอดกาล
ไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะออกไปร่วมงานศพของพี่บุ้ง สหายร่วมเดินทางผู้ล่วงลับจากการอดอาหารเพื่อเรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัวประชาชนและเพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
ตะวันอยากมาส่งพี่บุ้งเป็นครั้งสุดท้าย แต่คงไม่มีโอกาส ตะวันอยากให้เพื่อนๆ มาส่งพี่บุ้งครั้งสุดท้ายแทนตะวันด้วย”
แท็กที่เกี่ยวข้อง บุ้ง ทะลุวัง ,กรมราชทัณฑ์ ,ตะวัน ทานตะวัน ,ทวี สอดส่อง ,ทนายกฤษฎางค์